ทำไมต้อง "สมรสเท่าเทียม" หนึ่งเสียงสะท้อนขอสิทธิ "คนเท่ากัน"

สังคม
15 มิ.ย. 65
14:46
2,437
Logo Thai PBS
ทำไมต้อง "สมรสเท่าเทียม" หนึ่งเสียงสะท้อนขอสิทธิ "คนเท่ากัน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้จะผ่านงานเดินขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง Pride Month ใน กทม.อย่างยิ่งใหญ่มา แต่กลุ่ม LGBTQIA+ บางส่วน ก็ยังจับตา และลุ้นว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะไม่ถูกคว่ำกลางสภาฯ พร้อมเรียกร้องให้กฎหมายที่เท่าเทียมเกิดขึ้นเพื่อให้ "คนเท่ากัน"

"วศิน คณะรัฐ" พนักงานบริษัทเอกชน ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาตั้งแต่สมัยเป็นเฟรชชี่ แม้จะไม่ได้ออกมาเป็นแกนนำเดินขบวน แต่ก็เป็นหนึ่งใน Community กลุ่ม LGBTQIA+ หรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์มาตลอด ท่ามกลางความหวังว่าประเทศไทยจะเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ออกมาแสดงตัวตน


กระทั่งมีงาน “บางกอก นฤมิตไพรด์” ขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง Pride Month ครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร "วศิน" ก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมขบวนพร้อมถือธงสีรุ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความยินดี เพราะทุกคนใน Community ให้การตอบรับและตั้งใจมาร่วมเดินขบวน ราวกับรอวันนี้มานาน และปรากฏการณ์ในวันนั้นทำให้รู้สึกได้ว่า "สมรสเท่าเทียม" เป็นเรื่องที่เป็นไปได้


ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ วันนี้ "วศิน" เปิดใจกับไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงอุปสรรคของการเป็น LGBTQIA+ ในสังคมไทยว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะยอมรับเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศได้ และเป็นอีกส่วนที่ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนั้นสำคัญ

เมื่อคู่รัก LGBTQIA+ ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับคนรัก ทำให้ทั้งคู่ต่างเป็นที่พึ่งของกันและกัน ร่วมกันฝ่าฟันผ่านอุปสรรค มีทั้งสุขและทุกข์ด้วยกัน แต่หากมีวันใดที่ฝ่ายหนึ่งป่วยจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล อีกคนกลับไม่สามารถเซ็นให้ผ่าตัด หรือถอดเครื่องช่วยหายใจได้ โดยต้องรอเพียงครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันมาตัดสินใจแทน

สมรสเท่าเทียม ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิที่มากกว่าใคร เราแค่ต้องการอะไรที่ชาย-หญิงทำได้ ให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน และไม่มีใครเสียประโยชน์จากเรื่องนี้ การที่รัฐเสนอ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้มองได้ว่า รัฐไม่สามารถให้สิทธิที่เท่าเทียมกับ LGBTQIA+ 

ขณะที่คนในสังคมภาพรวมก็อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากการผลักดันหรือเปลี่ยนแปลง คนบางส่วนในกลุ่ม LGBTQIA+ เองก็ยังไม่ได้มองว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีความสำคัญ เนื่องจากยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งมองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อกระแสหลักยังไม่ได้รายงานรายละเอียดมากนัก ทำให้คนส่วนใหญ่ที่รับรู้ข่าวสารกลายเป็นกลุ่มที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม "วศิน" ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า แม้ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจความสำคัญของกฎหมายร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และคิดว่าสภาฯ ก็คงจะคว่ำร่างฯ ในวันนี้ แต่ก็ยังมีความหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะยังได้ไปต่อ แม้จะไม่ได้เดินหน้าในยุคนี้ แต่ยุคที่คนเจนเนอร์เรชันใหม่ก้าวขึ้นมามีอำนาจท่ามกลางความเข้าใจและความเชื่อเรื่องความเท่าเทียม สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้นได้

ยืนยันว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทำเพื่อทุกคน ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใคร สิ่งเดียวที่เดินหน้าคือ การทำให้คนเท่ากันได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! สภาฯ โหวต "สมรสเท่าเทียม" หลังวิปรัฐบาลมีมติคว่ำร่าง

"ก้าวไกล" ชี้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทุกคนเข้าใจ พร้อมสู้ต่อชั้น กมธ.

เปิดเส้นทางกฎหมาย เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง