รัฐขอโรงกลั่นส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันฯ ราว 8,500 ล้านต่อเดือน

เศรษฐกิจ
17 มิ.ย. 65
11:09
490
Logo Thai PBS
รัฐขอโรงกลั่นส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันฯ ราว 8,500 ล้านต่อเดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐบาลขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน 6 แห่งและโรงแยกก๊าซ ส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมต่ออายุมาตรการเศรษฐกิจ เตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม. 21 มิ.ย.นี้

วันนี้ (17 มิ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมทีมเศรษฐกิจฉุกเฉิน 5 หน่วยงานทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเคาะมาตรการลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

หนึ่งในมาตรการที่ขอความร่วมมือไปยังโรงกลั่นน้ำมัน 6 แห่ง ส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันส่วนเกิน เข้ากองทุนน้ำมันเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.2565 แบ่งเป็นน้ำมันดีเซล 5,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน และเบนซินอีก 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

ค่าการกลั่นน้ำมันเบนซินส่วนเกินที่ส่งเข้ากองทุน จะนำมาเป็นส่วนลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินได้ทันที 1 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลจะนำเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อช่วยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งขณะนี้ติดลบประมาณ 90,000 ล้านบาท และภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จะติดลบถึง 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้จะขอความร่วมมือจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งจะมีกำไรจากส่วนเกินส่วนหนึ่งมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน รวมรัฐบาลขอความร่วมมือนำกำไรส่วนเกินเข้ากองทุนราวๆ 8,500 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนมาตรการที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย.นี้ ที่ประชุมเห็นชอบขยายอายุมาตรการออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.เช่นกัน ทั้งการช่วยค่าแก๊ส NGV ในกลุ่มผู้ขับแท็กซี่, ส่วนลดซื้อแก๊ส LPG สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาด 1.40 บาท เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า ซึ่งเป็นผู้ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณรัฐบาลที่ขานรับโดยเร็ว โดยระบุว่า พรรคดีใจที่ประชาชนได้เงินกลับมา 24,000 ล้านบาททันที และจะเสนอแนวคิดให้พิจารณาเพิ่มเติม ก่อนเรื่องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้ โฆษกกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่า ข่าวเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันสูงถึงลิตรละ 8 บาทนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งจากการตรวจสอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือนตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2565 อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือน พ.ค. ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 5.20 บาท สูงกว่าช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 1 เท่า แต่ก็เป็นไปตามทิศทางค่าการกลั่นในตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ข่าวดี! กกร.มติตรึงสินค้าควบคุม 46 รายการต่ออีก 1 ปี

กบง.เคาะปรับขึ้นราคา "ก๊าซหุงต้ม" ถัง 15 กก. แตะ 378 บาท

นายกฯ ชี้แจงลดค่ากลั่นน้ำมันมีกฎหมายรองรับ-ขอความร่วมมือโรงกลั่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง