บทวิเคราะห์ : เรื่องเก่า-เล่าใหม่ "สภาวงศาคณาญาติ"

การเมือง
23 มิ.ย. 65
10:10
202
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เรื่องเก่า-เล่าใหม่ "สภาวงศาคณาญาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า และเป็นเรื่องเก่าที่ไม่ธรรมดา

กรณีสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.แต่งตั้งเครือญาติของตนเข้าไปเป็นคณะทำงานมากกว่า 50 คน จากส.ว.ปัจจุบัน 250 คน ทั้งแต่งตั้งให้ญาติเป็นคณะทำงานของตนโดยตรง หรือนำญาติของตนไปไขว้สลับเป็นคณะทำงานกับ ส.ว.คนอื่น

เพราะถือเป็นโมเดลที่ทำติดต่อตกทอดกันมายาวนาน จนกลายเป็นเรื่องปกติในความคิดของผู้ทรงเกียรติเหล่านี้ อีกทั้งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับส.ว.เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือส.ส. รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบก็ไม่ผิด

หลายตระกูลในหลายจังหวัด สร้างปรากฎการณ์ คนในครอบครัวเดียวกัน คนในครอบครัวเดียวกัน รวมถึงเครือญาติ เป็นทั้ง ส.ว., ส.ส., นายกฯอบจ., นายกเทศมนตรี, นายกเทศมนตรีนคร, นายกฯอบต. รวมถึงตำแหน่งบริหาร หรือสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ มีสอดแทรกให้เห็นดาษดื่น

ยังไม่นับตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วย ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว คณะทำงานการเมือง กรณีเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเงินเดือน รายได้ และสิทธิประโยชน์ครบครัน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ประเมินจำนวนเงินงบประมาณในช่วงเวลา 3 ปี ที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน ส.ว.และตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว.นับตั้งแต่ ส.ว.ชุดปัจจุบันเข้ารับหน้าที่เมื่อกลางปี 2562ประมาณ 2,230,569,000 บาท

ขณะที่ผลงานจากหนึ่งในภาระหน้าที่สำคัญของส.ว. คืองานด้านนิติบัญญัติ 3 ปี สิ้นสุด ณ วันปิดสมัยประชุมสามัญ ครั้งที่ 2/64 ผ่านกฎหมายได้ 35 ฉบับ ตีกลับอย่างน้อย 4 ฉบับ รับหลักการวาระแรก 8 ฉบับ และอยู่ระหว่างบรรจุลงวาระการประชุม 29 ฉบับ

ส.ว.บางคนออกโรงตอบโต้ เรื่องตั้งคนในครอบครัวและเครือญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานว่า เป็นการเสียสละและตั้งใจจะเข้ามาทำงานช่วยเหลือจริง ๆ เพราะเงินเดือน 15,000-24,000 บาทนั้น ความจริงไม่เพียงพออยู่แล้ว

อีกทั้งการทำงานการเมือง จำเป็นต้องทำร่วมกับคนที่รู้ใจ หรือเชื่อใจได้เป็นสำคัญ หากเป็นคนอื่นอาจเกิดปัญหาได้ พร้อมท้าทายให้มีการตอบสอบ เรื่องการทำงานได้ทุกเมื่อ

แม้จะมีข้อข้องใจสงสัยจากผู้คนในสังคมไม่น้อยว่า คนที่มีความรู้ความสามารถ สามารถทำงานให้กับ ส.ว.ได้ จะมีเฉพาะคนในครอบครัวและเครือญาติเท่านั้นหรือ ? บุคคลอื่นไม่มีคุณสมบัติ หรือความสามารถเทียบเท่ากับการใช้บริการคนใกล้ชิดได้จริงหรือ? และโดยคุณวุฒิของส.ว. จะไม่สามารถหาคนนอกที่มีศักยภาพและเป็นที่ไว้วางใจของตนได้จริงหรือ?

เรื่องนำคนในครอบครัวและเครือญาติเข้าสู่เวทีการเมืองในระดับต่าง ๆ ทั้งผ่านการแต่งตั้งและเลือกตั้ง รวมทั้งการนำคนในตระกูลเข้ามาช่วยงานการเมือง จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “สภาวงศาคณาญาติ” หรือแม้แต่ “สภาผัวเมีย” เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมมายาวนาน

ท่ามกลางข้ออ้างของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่า “ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามเอาไว้” ครั้งหนึ่งจึงถูกนำไปเป็นประเด็นร้อน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่สุดท้ายสามารถฝ่าด่านออกมาบังคับได้สำเร็จ หลังจากมีเสียงเชียร์จากประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง

คือมาตรา 115 ระบุชัดเจนใน (5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แม้เจตนารมณ์จะชัดเจน หวังสะกัดกั้นการเป็นสภาของคนในกลุ่มตระกูลเดียวกันหรือเครือญาติใกล้ชิดกัน แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีช่องโหว่ให้คนในตระกูลการเมืองแหวกช่องหาทางหลีกเลี่ยงอยู่ดี

ก่อนที่ในเวลาต่อมา หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี 2560 ซึ่งต้องใช้ถึง 2 ชุด ก็มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขกลับไปเปิดช่องให้เกิด “สภาวงศาคณาญาติ” เช่นเดิม โดยเฉพาะการตั้งคนในตระกูลมีตำแหน่งในคณะทำงาน โดยไม่มีข้อกำหนดห้ามใด ๆ ไว้

นักวิชาการ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้แต่ ส.ว.หลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต่างออกโรงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนตั้งแต่ต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง