"แซน-กระติก" ร้องเอาผิดคนสร้างหลักฐานเท็จ "ผ้าเปื้อนเลือด"

อาชญากรรม
27 ก.ค. 65
16:12
198
Logo Thai PBS
"แซน-กระติก" ร้องเอาผิดคนสร้างหลักฐานเท็จ "ผ้าเปื้อนเลือด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"แซน-กระติก" ร้องกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่สร้างพยานหลักฐานเท็จ "ผ้าเปื้อนเลือด" ในคดีการเสียชีวิต ของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม

วันนี้ (27 ก.ค 2565) นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือ แซน และ น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือ กระติก ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิต ของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม เดินทางเข้าพบว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พร้อมทนายความ เพื่อร้องขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหรือกระบวนการที่สร้างพยานหลักฐานเท็จ

หลังจากที่ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภาได้ส่งพยานหลักฐานให้ตรวจสอบ และปรากฏผลการตรวจสอบพบคราบเลือดมนุษย์จริง แต่เป็นคราบเลือดที่ทางการแพทย์เรียกว่า ยูเรแซน อินเดียน และไม่ใช่เลือดของมนุษย์ผู้หญิง

ที่สำคัญไม่ใช่เลือดของ น.ส.แตงโม รวมถึงผ้าเปื้อนเลือดผืนดังกล่าว ไม่ใช่ผ้าผืนเดียวกันกับที่แตงโมสวมใส่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นอันยุติแล้วว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ มีผู้สร้างขึ้น


น.ส.อิจศรินทร์ ระบุว่า การสร้างพยานหลักฐานเท็จทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบโดยสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ในส่วนคดีความ ทุกคนยินดีเข้าสู่กระบวนการและคดีอยู่ในชั้นพนักงานอัยการแล้ว ไม่อยากให้เลื่อนแล้ว ต้องการให้กระบวนการดำเนินไป และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เข้ามาทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะประชาชนที่สนใจคดีอย่างมาก อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และวิจารณ์ไปในทางเสียหายโดยไม่ได้เกิดจากข้อมูลจริง

วันนี้เป็นตัวแทนของผู้ต้องหา อีก 3 คนด้วย เพื่อร้องขอให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพยานหลักฐานเท็จในครั้งนี้ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ให้กับสังคม

ขณะที่ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต ระบุถึง ความคืบหน้า กรณีมีผู้ร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ให้พิจารณาดำเนินคดีเป็นคดีฆาตกรรม ว่า ผลการตรวจสอบหลักฐานผ้าเปื้อนเลือดผืนดังกล่าว เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะพิสูจน์พยานหลักฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นคดีฆาตกรรมหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจยุติแล้วว่าเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จ แต่กระบวนการตรวจสอบมีกรอบเวลากำหนด คณะกรรมการจะยังทำงานตรวจสอบในแง่มุมอื่น ตามที่มีผู้ร้องขอจนเป็นอันสิ้นสงสัยแน่ชัด


สำหรับกระบวนการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นคนละส่วนกับคดีหลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของพนักงานอัยการแล้ว โดยมีนัดฟังคำสั่งการฟ้องคดีในวันที่ 3 ส.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง