บทวิเคราะห์ : ทางตันหาร 500

การเมือง
28 ก.ค. 65
20:49
1,112
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ทางตันหาร 500
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในที่สุดก็หาทางไปต่อยาก กับร่างแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) ที่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเปลี่ยนใจเพียงชั่วข้ามคืน จากหารด้วย 100 มาตลอด เปลี่ยนไปหารด้วย 500 เพียงชั่วข้ามคืน เมื่อมีกระแสข่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เปลี่ยนไปหารด้วย 500

ทั้งที่ก่อนหน้าจะลงมติโหวตเปลี่ยนมาตรา 23 ในวาระที่ 2 ของร่างแก้ไข พ.ร.ป.ฉบับนี้ จะมีกูรูด้านกฎหมาย ทั้งในรัฐสภาและนักกฎหมายวงนอก เตือนว่า จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

เพราะในร่างที่ กมธ.พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ล้วนสอดคล้องกับหลักการหารด้วย 100 ทั้งสิ้น เมื่อมาตรา 23 ว่าด้วยวิธีคิดหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กลับไปหารด้วย 500 จึงกระทบเนื้อหาทั้งฉบับ รวมทั้งในมาตราอื่น ๆ ที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 จึงเป็นหนทางยากสำหรับการพิจารณาต่อ อย่างน้อยอีก 2-3 มาตรา

ในการพิจารณาต่อของที่ประชุม 2 สภา เมื่อ 26 ก.ค.2565 จึงมีข้อเสนอเพิ่มเนื้อหาเป็นมาตรา 24/1 ให้ไปเพิ่มข้อความในมาตรา 129/1 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เริ่มคิดคำนวณจำนวน ส.ส. เมื่อนับคะแนนได้ 95 %

จากนั้น ค่อยคิดคำนวณอีก 5 % ที่เหลือ ลักษณะเป็น 2 ขยัก ส่งผลให้ฐานคิดคำนวน ส.ส.ระหว่าง 95 % กับ 5 % ที่เหลือจะต่างกันทันที การเสนอเพิ่มเนื้อหาดังกล่าวจึงถูกต่อต้านคัดค้านจากกรรมาธิการเสียงข้างมาก กระทั่งสุดท้าย ปธ.กมธ.นายสาธิต ปิตุเตชะ ต้องขอถอนเรื่องออกไปก่อน

ถือเป็นข้อยุ่งยากด่านแรกของการเดินหน้าต่อ สำหรับสูตรหารด้วย 500 ยังไม่มีใครรู้ว่าในมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับการหารด้วย 100 จะปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรอีกหรือไม่ เนื่องจากกมธ.เสียงข้างน้อย ที่ชนะสูตรหาร 500 ไม่ได้เสนอคำแปรญัตติหรือสงวนความเห็น เพื่อแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวเนื่องกัน ทางออกจึงยุ่งยาก ไม่รู้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

แต่โดยหลักการแล้ว ต้องนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของ 2 สภาต่อจนแล้ว โดยมีเวลาพิจารณา ไม่เกิน 15 สิงหาคม 65 ซึ่งจะเป็นวันครบกำหนดที่รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ หาไม่แล้ว ต้องกลับไปใช้ร่างฉบับที่ผ่านวาระรับหลักการ ซึ่งหารด้วย 100 หรืออีกทางหนึ่ง คือพิจารณาให้จบทุกมาตรา แล้วโหวตเห็นชอบในวาระ 3

จากนั้นต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และกกต.ตามมาตรา 132 เพื่อรอลุ้นให้กกต.ซึ่งเจ้าของต้นร่างหารด้วย 100 ทำความเห็นย้อนแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือทำไม่ได้ในทางปฏิบัติกลับคืนมา เพื่อให้รัฐสภาดำเนินการ ภายในเวลา 30 วัน โดยให้กลับไปใช้สูตรหารด้วย 100

ถือเป็นเหตุผลในด้านกฎหมาย เพราะสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ และหากเดินหน้าต่อให้หารด้วย 500 อาจเกิดปัญหาโอเวอร์แฮงค์ คือ จะมี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เกินจำนวน เหมือนที่นายนิกร จำนง เลขานุการกมธ.จากพรรคชาติไทยพัฒนา เตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสถอยกลับไปหารด้วย 100 คือหากไปต่อโดยหาร 500 พรรคการเมืองใหญ่ หรือแม้แต่พรรคขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ อย่างพรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ มีแนวโน้มจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม เพราะจำนวน ส.ส. พึงมีที่มีการอ้างถึงกัน

เฉพาะจำนวน ส.ส. เขตที่ได้ อาจเกินจำนวนกว่า ส.ส.พึงได้ไปแล้ว หมายถึง จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คล้ายกับที่พรรคเพื่อไทยเคยเจอในการเลือกตั้งปี 62 จากระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่กติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว

ถือเป็นสาเหตุสำคัญ และนำไปสู่ความยุ่งยาก เป็นผลจากความพยายาม หวังชิงความได้เปรียบจากกติกาการเลือกตั้ง โดยไม่คำถึงถึงความถูกต้องเหมาะสมของกติกาที่จะออกมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง