"ผิวหนังแท้" อะไหล่จริง ฟื้นผู้ป่วยไฟไหม้ MOUNTAIN B

สังคม
10 ส.ค. 65
14:55
887
Logo Thai PBS
"ผิวหนังแท้" อะไหล่จริง ฟื้นผู้ป่วยไฟไหม้ MOUNTAIN B
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พาทำความรู้จัก "คลังผิวหนัง" (Skin bank) ผ่านคำสัมภาษณ์ของ นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ต้นแบบอะไหล่จริงจากผู้เสียชีวิต สู่เคสผู้ป่วยบาดแผล ไฟไหม้นำร้อนลวก ผู้ป่วยเหตุไฟไหม้ MOUNTAIN B
ผิวหนังกาชาดใช้ผิวหนังแท้ อะไหล่จริง รักษาแผลไฟไหม้ได้ดีกว่า คนที่โดนไฟไหม้ มีแผลลึกและใหญ่เกิน 50% ของร่างกาย มีโอกาสเสียชีวิต 80%

หลายคนอาจจะรู้ว่าแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือการระเบิดจากแก๊ส และไฟไหม้ จนผิวหนังเสียหาย ผู้ป่วยต้องทนกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส การต้องล้างแผลสด รักษาบาดแผลเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ เป็นจุดชี้ถึงแผลเป็นที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษา

หนึ่งในนวัตกรรมฟื้นฟูผิวหนังจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกคือการใช้ "ผิวหนังกาชาด" ผิวหนังจากคลังกาชาด สภากาชาดไทย ที่ได้รับจากผู้บริจาคอวัยวะจากภาวะสมองตาย  

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ทำความรู้จักผิวหนังกาชาด จาก นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย บอกที่มาถึงคลังผิวหนัง (Skin bank) กาชาดว่า 28 ปีหลังจากสภากาชาดเริ่มเปิด ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ หนึ่งในวัตถุประสงค์ชัดเจนคืออวัยวะที่ได้จากผู้เสียชีวิตที่สมองตาย ต้องใช้ประโยชน์สูงสุด ทั้งหัวใจ ลิ้นหัวใจ ดวงตา ตับ หรือแม้แต่เนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งสามารถส่งต่อและชุบชีวิตให้อีกหลายชีวิต

ในเนื้อเยื่อและอวัยวะที่หลายคนอาจไม่รับรู้ก็คือ ผิวหนัง จากเคสระเบิดที่เกาะบาหลี หรือในไทยมีรถแทกซี่ รถตู้ใช้แก๊ส รถทัวร์สองชั้น เคสไฟไหม้ นำร้อนลวก จำเป็นต้องมีผิวหนังทดแทน จึงนำมาสู่การตั้งคลังผิวหนังในไทย

ผิวหนังมาจากไหน?

ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย บอกว่า ที่มาของผิวหนัง ต้องเก็บจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตจากสมองตายทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ก็จะเก็บผิวหนังไว้ด้วย ถ้าญาติคนเสียชีวิตอนุญาต จะมีทีมเก็บผิวหนังของผู้เสียชีวิต จัดเก็บผิวหนังด้วยเครื่องไถผิวหนัง dermatome ซึ่งมีความหนาเพียง 0.02 มิลลิเมตรเท่านั้น 

จุดที่ดีที่สุดของผิวหนังของผู้บริจาคคือ บริเวณหน้าขาหน้า หลัง และแผ่นหลัง กระบวนการเก็บผิวหนังทั้งหมดต้องสะอาดมาก ทำในห้องผ่าตัด คนทำต้องสะอาด คนเสียชีวิตต้องผ่านการตรวจโรค ทั้งเชื้อ HIA ซิฟิลิส โรคไวรัส B,C มะเร็ง 

รวมทั้งต้องไม่มีโรคผิวหนัง เช่น โรคเกลื้อน กลาก เชื้อรา ผิวหนัง รอยสัก และต้องไม่มีโรคติดเชื้ออย่างอื่น เรียกว่าผิวหนังต้องสะอาดปราศจากเชื้อ จากนั้นเมื่อได้ผิวหนังมาแล้วผ่านกระบวนการแช่น้ำยาและล้าง ซึ่งขั้นตอนเก็บผิวหนัง จนกระทั่งแล้วเสร็จจนบรรจุจะกินเวลา 7-10 วัน และต้องเก็บไว้ที่ความเย็น 4 องศาเซลเซียส

โดยมีอายุใช้งานเป็นเวลา 5 ปี และบรรจุในขวดติด label ระบุรายละเอียดของผิวหนังในขวด เช่น ขนาดกี่ตารางเซนติเมตร อาสาสมัครที่บริจาคคือใคร ผู้เก็บ เก็บวันไหน เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นทาง  

ผิวหนังที่เก็บจะมี 2 รูปแบบผิวหนังมาทำการตัดแต่งวัดขนาด และบดขยายผิวหนัง Mesh จัดเก็บในน้ำยา Glycerol เก็บไว้ที่ความเย็น 4 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลา 5 ปี  

ข้อดีของผิวหนังแท้ สมานแผลดี

นพ.วิศิษฎ์  บอกว่า ข้อดีที่ใช้ผิวหนังคนจริงไปซ่อมบาดแผล เพราะเป็นธรรมชาติ และไม่มีปฏิกริยาต่อต้าน ไม่ติดเชื้อและผลิตเองในประเทศ เป็นความมั่นคงไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ ตอนนี้เรามีคลังผิวหนังในสภากาชาดไทย และรองรับสำหรับเคสใหม่ ล่าสุดคือผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้ MOUNTAIN B ซึ่งมีการส่งตัวมารักษาโรงพยาบาลรามาธิบดี ศิริราชพยายาล รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.เลิศสิน และที่ในจ.ชลบุรี ได้ติดต่อขอช้ผิวหนังกาชาดไปรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้

ถ้าถามเคสตัวอย่างที่ได้ใช้ผิวหนังกาชาดคือ เด็กหญิงตกถังน้ำเต้าหู้ หากหลับตานึกภาพ ตัวเล็กๆ ที่ถูกน้ำเต้าหูลวก เด็กคนนี้ได้รับผิวหนังบริจาค ใช้ในการรักษาจนหายดี ชดเชยผิวหนังที่เสียหาย 

 

นพ.วิศิษฎ์  เล่าถึงผู้ที่เคยได้รับผิวหนังกาชาดไปซ่อมแซมผิวหนังไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลระเบิด เนื่องจากคนป่วยกลุ่มนี้ จะสูญเสียโปรตีน และทำให้เกิดภาวะการช็อกได้ ดังนั้นต้องหยุดกระบวนการให้น้ำเหลืองไหล และโปรตีนหายไป รวมทั้งรักษาแผลเชื้อโรคเข้าไปง่าย ก็จะมีโอกาสรอด และลดความทุกข์ทรมาน

คนไข้ที่เคยทำแผลแบบเดิม อาจต้องทำแผลทุกวัน แต่ถ้าผิวหนังจริงๆ จะทำแผลแค่ 1 สัปดาห์ต่อครั้ง พบว่าผิวหนังมาผสาน แผลจะหายเร็ว โดยแผลจะแห้ง และหลุดภายใน 7 วัน ทั้งนี้กระบวนการรักษาตัดสินใจใช้ผิวหนัง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

ใครบ้างขอใช้ผิวหนัง อะไหล่จริงสู่ผู้ป่วยไฟไหม้ 

ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย บอกว่า แต่ละปีจะมีการเก็บผิวหนังจากผู้บริจาคอวัยวะราว 70,000 ตารางเซนติเมตร และมีการขอใช้ผิวหนังไปรักษาราว 4,000-5,000 ตารางเซนติเมตร โดยผู้จะติดต่อใช้ผิวหนังกาชาด ติดต่อที่หมายเลข 1666  ซึ่งปีนี้สภากาชาด ยังอนุมัติให้ใช้ฟรี สำหรับผู้ด้อยโอกาสจนถึงวันที่30 ก.ย.นี้

สำหรับการนำผิวหนังไปยังผู้ป่วย ก็ต้องบรรจุในขวดปิดผนึกอย่างดี เมื่อนำออกจากตู้เย็นแล้วยังต้องใส่ลังโฟมและแช่ด้วยน้ำแข็ง และนำไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยรอรับบริจาคภายในระยะที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผิวหนังเสื่อมสภาพ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง