วันนี้ (17 ส.ค.2565) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวาระการดำรงตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 158
ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า 1.การสิ้นสุดลงในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน
ทั้งนี้ มี ส.ส.เข้าชื่อ 171 คน และคำร้องมีเนื้อหา 18 หน้า ไล่เรียงอ้างถึงตั้งแต่ช่วงการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 ส.ค.2557 และอ้างอิงข้อกฎหมายประกอบมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่รองรับคุณสมบัติของ ครม.ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ยังได้นำคำวินิจฉัยของศาลที่เคยชี้ขาดคำร้องเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวมาอ้างอิงกรณีที่มีการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องระหว่าง 2 รัฐธรรมนูญ รวมถึงอ้างถึงเจตนารมณ์ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่มีบันทึกความเห็นการประชุมของ กรธ.

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังอธิบายกระบวนการ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ส.ค.ว่า หากคำวินิจฉัยเป็นเช่นนั้นจะทำให้ ครม.พ้นทั้งคณะ แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าให้ ครม.ทั้งคณะรักษาการแทนจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรและ ครม.
นอกจากนี้ ยังอธิบายว่า มี 4 กรณีที่เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งไม่สามารถรักษาการได้ ต้องเป็นคนอื่น คือ 1.พ้นจากตำแหน่งเหตุด้วยมีคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98 2.พิสูจน์ได้ว่านายกรัฐมนตรี มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เช่น ปมทุจริต 3.การกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และ 4.ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 เรื่องเกี่ยวกับกระทำผิดต่อการจัดสรรงบประมาณ
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 จะรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีได้ กรณีที่ศาลสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย ทั้งยังอธิบายว่ากรณีนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งที่ไม่ใช่สาเหตุจากการยุบสภา ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในสภาฯ ใหม่
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การวินิจฉัยของตุลาการศาล เป็นไปได้ตามดุลพินิจหลักพิจารณาและข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่มีผลย้อยหลังไปถึงปี 2557 ซึ่งมีข้อถกเถียงกันเยอะ เช่น 51 นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ของ 15 มหาวิทยาลัย ที่ตีความทำความเห็น
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังเห็นว่าทางออกทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ กับการยุบสภาในวันที่ 22 ส.ค.นี้ สามารถทำได้ เพราะมีอำนาจที่จะทำได้ แต่อาจจะยาก และหากเกิดการยุบสภาในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ก็จะเป็นเหตุให้ไม่มีกฎหมายใช้สำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป เว้นแต่เข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วมีการยุบสภาฯ ก็จะไม่เกิดปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยุบสภา