TRAFFIC สำรวจ 2 ปี ตลาดออนไลน์ "ค้าซาก-ชิ้นส่วนเสือ" 300 ชิ้น

สิ่งแวดล้อม
18 ส.ค. 65
19:00
314
Logo Thai PBS
TRAFFIC สำรวจ 2 ปี ตลาดออนไลน์ "ค้าซาก-ชิ้นส่วนเสือ" 300 ชิ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
TRAFFIC เปิดผลสำรวจพบช่วงโควิดสถานการณ์ค้าสัตว์ป่าไม่ลดลง 2 ปีพบซื้อขายซาก-ชิ้นส่วนเสือผ่านตลาดออนไลน์กว่า 300 ชิ้น ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 65 ไทยจับกุมคดีค้าเสือ 4 คดี ยึดลูกเสือโคร่งมีชีวิต 3 ตัว ชงใช้เครือข่าย TWIX เชื่อมข้อมูลการลอบค้าสัตว์ป่าระดับภูมิภาค

น.ส.เมทินีย์ ภัสสราอุดมศักดิ์ นักวิจัยและฝ่ายข้อมูล TRAFFIC เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การค้าสัตว์ป่า ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ทั้งในช่องทางตลอดและออนไลน์ ว่า สถิติการตรวจยึดและจับกุมเสือในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา (2543-2561) พบว่า ในประเทศไทยมีเสือถูกยึด 351 ตัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง หรือสถานเพาะเลี้ยงต่าง ๆ สิ่งที่น่ากังวล คือสถานที่ดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

6 เดือนแรกปี 65 ยึดลูกเสือโคร่ง 3 ตัว ซากเสือ 3 ตัว

ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2565 มีการตรวจยึดและจับกุมคดีเกี่ยวกับเสือ 4 คดี รวม 6 ตัว ในจำนวนนี้เป็นลูกเสือที่มีชีวิต 3 ตัว คือ น้องขวัญ เสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย, ต้นกล้าและต้นข้าว เสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล และหนังเสืออีก 3 ตัว

เจ้าหน้าที่ TRAFFIC ได้สำรวจตลาดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา ไทย เวียดนาม พบว่า ยังมีการซื้อขายชิ้นส่วนและซากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า โดยอันดับ 1 เป็นผลิตภัณฑ์จากงาช้าง อีกทั้งยังพบการค้าผลิตภัณฑ์จากเสือ เช่น กระโหลกเสือ กระดูกเสือ เขี้ยว-เล็บเสือ รวมทั้งชิ้นส่วนของนกชนหิน นอแรด เกล็ดลิ่น หนังลิ่น เล็บหมี

ในส่วนของตลาดออนไลน์ ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปี 2563-2564 พบว่า การซื้อค้าขายซากและชิ้นส่วนสัตว์ป่าไม่ได้ลดลง โดยพบผลิตภัณฑ์จากงาช้างถูกซื้อขายมากที่สุด รองลงมาเป็นซากและชิ้นส่วนจากเสือ รวม 300 ชิ้น

ฝากถึงผู้ที่คิดจะบริโภค หรือใช้สินค้าพวกนี้ อย่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา อย่าใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า เพราะเป็นการเบียดเบียน 

 

ชูแคมเปญไม่ใช้ของปลุกเสก "ซากสัตว์ป่า"

นักวิจัยและฝ่ายข้อมูล TRAFFIC กล่าวว่า ในประเด็นของความเชื่อและค่านิยมที่ยังมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เสือมาเป็นเครื่องรางของขลังนั้น TRAFFIC และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ได้ทำงานร่วมกัน โดยพูดคุยกับองค์กรสงฆ์ นำร่องในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีพระสงฆ์หลายรูปร่วมประชุมออนไลน์ จัดทำแคมเปญไม่ใช่ของที่ปลุกเสกจากซากสัตว์ หนังเสือ เขี้ยวเสือ งาช้าง และสัตว์ป่าอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม พบการใช้ประโยชน์จากซากเสือ ผลิตภัณฑ์จากเสือ และเสือที่มีชีวิต 4 ประเภท ได้แก่ ความเชื่อในการนำไปทำเป็นยา เช่น เพิ่มพละกำลัง, การล่าเป็นอาหาร, การนำเสือมาเป็นสัตว์เลี้ยง, การนำเสือมาเป็นเครื่องราง ของขลัง ของประดับ เครื่องตกแต่งบ้าน เช่น หนังเสือ เขี้ยวเสือ หนวดเสือ เล็บเสือ ฟันเสือ

เล็งใช้เครือข่าย TWIX เชื่อมข้อมูลค้าสัตว์ป่าระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ TRAFFIC ยังได้นำเสนอแนวคิดการจัดตั้ง ASEAN TWIX (Trade Wildlife Information Exchange) ซึ่งเป็นเครือข่ายระบบรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระดับภูมิภาค (Regional Network) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลได้แบบ Real time โดยระบบนี้ได้จัดตั้งแล้วในยุโรป (EURO TWIX) และแอฟริกา จำนวน 3 เครือข่าย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีความสนใจและเล็งเห็นว่าระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดี และเตรียมที่จะจัดประชุมหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลและประสบการณ์การใช้งานจากเครือข่าย TWIX โดย TRAFFIC มุ่งหวังเชิญชวนสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ร่วมใช้งานก่อนเป็นลำดับแรก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ ในอดีตทั่วโลกมีประชากรเสือในป่าธรรมชาติกว่าแสนตัว และข้อมูลตั้งแต่ปี 2543-2561 ประชากรเสือในธรรมชาติเหลือเพียง 3,900 ตัว แต่ล่าสุดปี 2022 พบประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ 13 ประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2015 ส่วนไทยอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศที่มีประชากรเสือมากที่สุด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง