กมธ.ชงตัดงบ "ศูนย์ฯข่าวปลอม" ชี้ไร้มาตรฐาน-รับรองรัฐทุจริต

การเมือง
19 ส.ค. 65
13:00
121
Logo Thai PBS
กมธ.ชงตัดงบ "ศูนย์ฯข่าวปลอม" ชี้ไร้มาตรฐาน-รับรองรัฐทุจริต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาฯเห็นชอบงบฯดีอีเอส 3,735 ล้านบาท โดย ส.ส.ก้าวไกล แท็กทีมอภิปรายตัดงบฯ ชี้ไม่ชัดเจนในรายละเอียดโครงการและมีความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะงบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ชี้อาจกลายเป็นตราประทับรับรองให้กับการทุจริตของภาครัฐ

วันนี้ (19 ส.ค.2565) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในส่วนงบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการตั้งงบฯ หลังจากการปรับลดแล้วอยู่ที่วงเงิน 3,735 ล้านบาท

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ในฐานะกรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกล อภิปรายชี้ถึงสาเหตุที่ไม่ควรจัดสรรงบประมาณให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 1.ความเป็นกลาง 2.ไม่มีมาตรฐาน และ 3.จำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน

พร้อมชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตรวจสอบหรือเช็กเรื่องข้อมูลข่าว โดยทักท้วงว่า มีการเผยแพร่ข่าวปลอมของส่วนราชการ แต่ไม่มีการแก้ไข ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจกลายเป็นตราประทับรับรองให้กับการทุจริตของภาครัฐ และย้ำว่า ไม่ควรมีศูนย์นี้ รวมถึงการรับงบประมาณจากภาษีของประชาชน

ขณะที่ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอตัดลดงบประมาณลงร้อยละ 5 โดยให้เหตุผลว่า การตั้งงบประมาณของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะในการตั้งงบประมาณไว้ 1,000 ล้านบาท แบบจ้างเหมาในโครงการพัฒนาโครงสร้างและความปลอดภัยด้านดิจิทัล

รวมถึงโครงการคอลเซ็นเตอร์ 1111 ที่ได้สะท้อนว่า ไม่มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน หรือประชาชนได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ส่วนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ยังพบปัญหาในการดำเนินการทั้งเรื่องการจัดซื้อคุรุภัณฑ์ที่พบพิรุธในกระบวนการจัดซื้อ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำว่า การเสนอปรับลดงบประมาณในทุกมาตรา ในส่วนโครงการที่พบว่า มีความซ้ำซ้อนกันถึง 290 โครงการ รวมวงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล หรือเซิร์ฟเวอร์และค่าใช้จ่ายในการทำดาต้าเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกระบวนการพิจารณางบประมาณ ที่เห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพื่อไปพัฒนาปรับปรุงในการพิจารณางบประมาณปีต่อไป เช่นการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์กลางของภาครัฐ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ตั้งงบประมาณ 86 ล้านบาท เพื่อเป็นปฏิบัติการในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยตั้งเป้าว่า จะเป็นช่องทางที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในการสื่อสาร และปัญหาการเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จ

ส่วนปัญหาคอลเซ็นเตอร์รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งกรรมาธิการได้จัดทำข้อสังเกตตามข้อเสนอแนะของสมาชิก และมีการปรับลดงบประมาณในส่วนที่เห็นว่าอาจจะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในบางโครงการ ทั้งนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ขอตอบคำถามในส่วนของรัฐมนตรี รอให้เป็นรัฐมนตรีก่อนแล้วจะมาตอบคำถาม

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบงบประมาณของประทรวงดีอีเอสตามร่างของกรรมาธิการด้วยคะแนนเสียง 224 ต่อ 106 งดออกเสียง1 ไม่ลงคะแนนเสียง 4

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง