ไขคำตอบทำไมน้ำท่วมรังสิต-กรุงเทพฯ

ภัยพิบัติ
8 ก.ย. 65
15:21
4,623
Logo Thai PBS
ไขคำตอบทำไมน้ำท่วมรังสิต-กรุงเทพฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จิสด้า เผยน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาจากน้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ระบายน้ำออกทะเลยาก ด้าน ผู้ดูแลคลองรังสิตใต้ ชี้น้ำจาก 6 แหล่งไหลสมทบคลองรังสิตฯ สาเหตุหลักทำน้ำท่วมในพื้นที่

สถานการณ์ฝนตกหนักในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานี้ ทำให้พื้นที่ อ.รังสิต จ.ปทุมธานีประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

"คลองรังสิตฯ" รับมวลน้ำ มาจาก 6 แหล่ง

"นายโบว์แดง ทาแก้ว" ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ผู้ดูแลสายคลองรังสิตฯ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในคลองรังสิตฯว่า

"..ข้างบนเนี่ย ถ้าเป็นไปได้ ถ้าน้ำในคลองยังต่ำกว่าตลิ่ง ก็ช่วยพยายามกดบานประตูให้เราหน่อย แต่ถ้าทุกคนเปิดคลองเร่งระบายมากันหมด ปลายทางก็จะมาลงคลองรังสิตฯ ก็จะแย่ ..ช่วยเรากันหน่อย.."

"..ตอนนี้ คลองรังสิตฯ รับน้ำจากนครนายกร้อยละ 60 ซึ่งฝั่งนครนายกน้ำสูงกว่าเรา 1.50 เมตร น้ำก็จะไหลมาทางเรา ..ทางคลองรังสิตฯ ตรงนี้”

“อีกอย่างเราต้องช่วย กทม.ด้วย ตรงคลองเปรมฯใต้ ต้องระบายมาย้อนลงคลองรังสิตฯ” “ส่วนอนุสรณ์สถาน ดอนเมือง คูคต ก็ต้องสูบไปลงปลายคลองสอง ต้นคลองลาดพร้าว แต่เขาสูบมาลง เราก็ต้องช่วยสูบย้อนต่อมาลงคลองรังสิตฯอีก”

“ถ้าเล่นบอล ก็เหมือนเป็นมิดฟิลด์ ป้องกัน กทม. ด้วย ช่วยในพื้นที่ด้วย..ฯ"

ในขณะนี้ "คลองรังสิตฯ" รับมวลน้ำ มาจาก 6 แหล่ง


1. "น้ำเหนือ" จากคลองหนึ่ง ถึง คลองสิบสอง
2. "น้ำเหนือ" จากคลองระพีพัฒน์
3. "น้ำเหนือ" จากแม่น้ำนครนายก
4. "น้ำระบายจากกรุงเทพ" ที่สูบจากคลองสอง
5. "น้ำเหนือ" จากคลองเปรมประชากรด้านเหนือ บวก "น้ำระบายจากกรุงเทพ" ที่สูบย้อนไปจากคลองเปรมประชากรด้านใต้
6. "น้ำฝน" ที่ตกในพื้นที่โดยตรง


ล่าสุดเทศบาลนครรังสิตประกาศปิดถนนตั้งแต่สะพานฟ้า-สะพานแดง คลองหนึ่ง เนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง 

 

จิสด้าชี้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากน้ำฝน

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามข้อมูลจากนักวิชาการจิสด้าได้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังถือว่าน้ำที่ท่วมพื้นที่ในกรุงเทพฯยังมาจากน้ำฝนทั้งหมด น้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยายังมาไม่ถึง แต่คาดว่าอาจจะใช้เวลาอีกไม่นาน ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยหน่วงน้ำให้เข้ากรุงเทพฯ ช้าลงจากการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรตามจังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน

และอีกปัจจัยคือระดับน้ำทะเลหนุนสูงที่ทำให้การผันน้ำออกจากตัวกรุงเทพฯ จะทำได้ยากและช้า กรุงเทพฯ เองเมื่อมีน้ำเข้ามา จะไม่สามารถผันน้ำออกสู่พื้นที่อื่นเหมือนกับต่างจังหวัดได้ ต้องระบายออกผ่านจากคลองลงสู่ทะเลเท่านั้น การลอกท่อหรือการทำพื้นที่รับน้ำเพิ่มตามคลองต่างๆ ให้สามารถรับน้ำเพิ่มในจังหวะที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนกรุงได้ในระดับหนึ่ง

จากรายงานของกรมชลประทานวันนี้ (8 ก.ย.) เวลา 06.00 น. น้ำในลุ่มเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ในอัตรา 1,448 ลบ.ม./วินาที มีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,895 ลบ.ม./วินาที

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตก หนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทําให้ เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง