พบอีก เอกสารยันจากวุฒิสภา "ส.ต.ท.หญิง" เคยทำงาน ในกมธ.หลายชุด

การเมือง
10 ก.ย. 65
14:01
2,439
Logo Thai PBS
พบอีก เอกสารยันจากวุฒิสภา "ส.ต.ท.หญิง" เคยทำงาน ในกมธ.หลายชุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตรวจสอบอีก "ส.ต.ท.หญิง" พบได้รับแต่งตั้งหลายตำแหน่งใน สนช. ทั้งเลขานุการฯ กมธ.ศาสนาฯ นักวิชาการ กมธ.กฎหมายฯ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.ศึกษาฯ และเดินทางไปดูงานกับ กมธ.ทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (10 ก.ย.2565) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ทำหนังสือถึง น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยข้อมูลของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ผู้ช่วยดำเนินงาน คณะทํางาน หรือตําแหน่งอื่น ๆ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใด

ตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด เงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และ สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบ และอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดใด ทั้งหมดกี่ชุด และเคยร่วมประชุมหรือร่วมเดินทางไปราชการภายในประเทศและต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการชุดใด ที่ไหนบ้าง

รับหลายตำแหน่งใน สนช.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในวงงานรัฐสภาของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม และ ส.ต.หญิง ปัทมา ศิริรัตน์ ในช่วงสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 ก.ค.2557-21 พ.ค.2562) และสมัยวุฒิสภา (11 พ.ค.2562-7 ก.ย.2565) โดยสรุปได้ดังนี้

กรณี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และค่าตอบแทน ไม่พบว่า มีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ช่วยดำเนินงานของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2561 (ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง) โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน

เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557

เดินทางไปดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง

ส่วนเรื่องการได้รับเบี้ยประชุม ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 2 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม เคยร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 2 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.2561 จ.เชียงราย (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย.2561 จ.ระนอง (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)

ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้งคือ การร่วม เดินทางไปประชุมทวิภาคีที่สหพันธรัฐรัสเซีย-สาธารณรัฐฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เม.ย.2561 (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)

เคยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการ กมธ.ศาสนาฯ

เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2561-21 พ.ค.2562 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดตามวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ทั้งนี้ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 ข้อ 6 ข.

กรณีแต่งตั้งบุคคล ที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในอัตรา เดือนละ 4,500 บาท และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม และในสมัยวุฒิสภา (11 พ.ค.2562-7 ก.ย.2565)

เคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการ กมธ.กฎหมาย

ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกวุฒิสภา แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2562-30 ก.ย.2563 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดวาระตามปีงบประมาณ

ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบรัฐสภา ข้อ 6 ข. กรณีแต่งตั้งบุคคลที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในอัตราเดือนละ 6,000 บาท เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 4 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม

ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา กมธ.ศึกษาฯ

ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2562-22 ส.ค.2565 ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กําหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภา และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการที่จังหวัดระยอง ระหว่าง วันที่ 13-14 ก.พ.2563 (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)

 

นายวัชระ กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ตอบหนังสืออย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน นับเป็นหน่วยราชการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าหน่วยงานของรัฐ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะไม่พบในหน่วยงานราชการทั่วไป จากข้อมูลเบื้องต้นที่ส่งมา แม้ว่าจะบอกว่า ไม่พบว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นผู้ช่วย สนช.หรือ ส.ว.ท่านใด

แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการหรือนักวิชาการ สภาละ 2 คณะคือ สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และเลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการเดินทางไปดูงานราชการต่างประเทศที่รัสเซียและฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เม.ย.2561 ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษจริง ๆ จะไม่ได้เป็นเด็ดขาด

เร่งตรวจสอบใครเป็นประธาน กมธ.ที่แต่งตั้งขึ้นมา

ต้องขอข้อมูลว่า หัวหน้าคณะเป็นใคร มีบุคคลร่วมคณะทั้งหมดกี่คน ใครเป็นคนเสนอชื่อให้ไป และเป็นผู้ติดตามสนช.ท่านใดไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ใช้งบประมาณเท่าไร ไปกับบริษัททัวร์ชื่ออะไร

กลับมาแล้วทำรายงาน พร้อมภาพถ่ายส่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไร มีจำนวนกี่หน้า ประสบความสำเร็จในการไปดูงานต่างประเทศหรือไม่ คุ้มค่ากับงบประมาณนับล้านบาท ที่เสียไปหรือไม่

 

ต่อมาในสมัย ส.ว. ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยังได้เดินทางไปราชการภายในประเทศ ทั้งที่จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.ระยอง แสดงว่ามีความสำคัญมาก

ต้องดูรายชื่อคณะกรรมาธิการที่ร่วมเดินทางทั้งหมด และผลรายงาน ภาพถ่ายการเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดด้วย ซึ่งต้องทำหนังสือขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดเผยรายละเอียดต่อไป

นายวัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้สิทธิเดินทางไปราชการต่างประเทศนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษของท่านผู้ทรงเกียรติจริง ๆ จะได้ไปหรือไม่ ไปสายการบินอะไร ต้องดูเลขที่นั่งบนเครื่องบิน

เธอนั่งเฟิร์สคลาสติดกับ สนช.คนใด เช็คตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-มอสโก-ฟินแลนด์-กรุงเทพฯ

ต้องดูว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นผู้ติดตามของกรรมาธิการคนใด เพราะในเอกสารที่ขออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ ในขณะนั้น

หากไม่ใช่กรรมาธิการ ต้องระบุสถานะของบุคคลร่วมคณะทั้งหมดทุกคนว่า ติดตามกรรมาธิการคนใด ใครเป็นผู้เสนอชื่อในคณะกรรมาธิการให้พิจารณาอนุมัติด้วย

เชื่อว่ามีข้อมูลมากกว่านี้ แต่ข้าราชการอาจจะทำตกหล่นได้ จึงจะทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภาสั่งการให้ผบ.กลุ่มงานตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่งในทุกประเด็นต่อไป อยากขอเตือนว่า การปกปิดทำลายข้อมูลหรือส่งข้อมูลเท็จ อาจนำไปสู่ศาลอาญาคดีทุจริตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง