"Charles Ponzi" บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่

อาชญากรรม
14 ก.ย. 65
16:04
2,165
Logo Thai PBS
"Charles Ponzi" บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
FOREX 3D ที่สร้างมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำ 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว แชร์ลูกโซ่กลุ่มแรกได้เกิดขึ้น และสร้างความเสียหายเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ไทยพีบีเอสออนไลน์พาย้อนทำความรู้จัก ชาร์ลส์ พอนซี ผู้ที่ถูกขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งแชร์ลูกโซ่

ในประเทศไทย “แชร์ลูกโซ่” ที่เกิดขึ้นจนเป็นคดีโด่งดังและเป็นจุดกำเนิดของการที่รัฐบาลต้องออกกฎหมาย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 นั่นคือ “คดีแม่ชม้อย”

อ่านข่าวเพิ่ม : https://www.thaipbs.or.th/news/content/318855

แต่แท้ที่จริง “แชร์ลูกโซ่” ที่โด่งดังไปทั่วโลก เกิดขึ้นก่อน แชร์ลูกโซ่แม่ชม้อย ถึงกว่า 60 ปี
นั่นคือในปี พ.ศ. 2463 นาย ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) เขาได้ใช้วิธีการเชิญชวนคนมาลงทุนจนสร้างความเสียหายที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9,252 ล้านบาทในปัจจุบัน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 ก.ย. 2565) และทำให้นามสกุลของเขาถูกนำมาตั้งเป็น กลยุทธ์พอนซี หรือ Ponzi Scheme ซึ่งใช้อธิบายการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะนี้ในเวลาต่อมา

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนย้อนกลับไปทำความรู้จักวิธีการฉ้อโกงในยุคนั้น

ชาร์ลส์ พอนซี คือใคร ?

เขาเป็นชาวอิตาลี เกิดในครอบครัวที่ยากจน คบเพื่อนฝูงที่เอาแต่เที่ยวเล่น ไม่ทำงาน ไม่เก็บเงิน อยู่มาวันหนึ่ง เขาย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ด้วยเงินติดตัวเพียง 2.5 ดอลลาร์สหรัฐ พอนซี เริ่มต้นหาเงินเพิ่มด้วยการเป็นเด็กล้างจาน และค่อยๆขยับตำแหน่งขึ้นเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร แต่สุดท้ายเขาถูกไล่ออกเพราะโกงเงินทอนลูกค้า

จากนั้นเขาไปสมัครงานเป็นผู้ช่วยพนักงานประจำในธนาคารแห่งหนึ่ง และที่นี่คือจุดเปลี่ยนความคิดทางการเงินและกลยุทธ์การฉ้อโกงเงินในหัวเขาไปทันที

นโยบายของธนาคารแห่งนี้ คือให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 6 ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารอื่นมาก จึงเป็นสิ่งที่เชิญชวนให้คนนำเงินมาฝากเป็นจำนวนมากเพราะต้องการผลตอบแทนที่สูงมากเช่นกัน แต่เบื้องหลังคือ ธนาคารนำเงินฝากของลูกค้ารายใหม่ไปจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยสูงให้กับลูกค้ารายเก่า จนวันหนึ่งที่ธนาคารไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ได้อีกต่อไป เจ้าของธนาคารจึงหอบเงินหรีออกนอกประเทศไป

พอนซีรับรู้ เข้าใจ และเห็นประโยชน์จากกลยุทธ์นี้

เริ่มต้นการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของอเมริกา

วันหนึ่ง พอนซี ได้รับจดหมายจากยุโรป นอกจากกระดาษเนื้อความจดหมายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขาเจอคือ International Reply Coupon (IRC) คือคูปองที่ใช้จ่ายแทนแสตมป์ เมื่อต้องการส่งจดหมายตอบกลับ จุดนี้พอนซีพบว่า ราคาของคูปองถ้าซื้อจากยุโรปจะมีราคาที่ถูกกว่าอเมริกา

ยกตัวอย่างและตัวเลขให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น : ถ้า พอนซี ต้องการจะตอบกลับจดหมาย เขาต้องนำคูปองไปแลกเป็นแสตมป์ออกมา ซึ่งราคาที่ซื้อคูปองที่ยุโรปอยู่ที่ 10 บาท แต่เมื่อนำมาแลกเป็นแสตมป์ที่อเมริกา จะได้ที่ราคา 20 บาท (ตัวเลขราคาและหน่วยสกุลเงิน เป็นการสมมุติ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น)

พอนซี เห็นช่องโหว่ตรงนี้เป็นช่องทางการทำเงินที่จะทำให้เขารวยขึ้น จึงเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน ให้คนมาลงทุนซื้อ IRC และบอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 50 ภายใน 45 วัน และร้อยละ 100 ภายใน 3 เดือน

ช่วงเดือนแรกมีคนตัดสินใจร่วมลงทุนกับเขาเพียง 15 คนเท่านั้น แต่ทุกคนได้รับผลตอบแทนกลับตามคำเชิญชวนจริง

ดังนั้น ข่าวการลงทุนของ พอนซี จึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้มีคนมาลงทุนจาก 15 คนเป็น 15,000 คน ในระยะเวลาไม่กี่เดือน เงินหมุนเวียนในระบบราวๆ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากข่าวการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงจะดังกระหึ่มไปในโลกของนักลงทุนแล้ว ข่าวนี้ยังเป็นที่จับจ้องจากสื่อหนังสือพิมพ์ในเมืองบอสตันอีกด้วย นักข่าวได้ทำการตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกิจของ พอนซี และพบว่า

-ถ้า พอนซี ทำธุรกิจแลกคูปอง IRC จริง จำนวนคูปอง IRC ในระบบควรมีมากว่า 160 ล้านใบ แต่ในความเป็นจริงพบเพียง 27,000 ใบ เท่านั้น
-ถ้าธุรกิจนี้ทำรายได้ได้จริง แต่ทำไม พอนซี ไม่เคยลงทุนในธุรกิจของตัวเองเลย

ความจริงถูกเปิดเผย ปิดฉากการฉ้อโกงระดับโลก

นักข่าวเรียบเรียงหลักฐานและเหตุการณ์มาตีพิมพ์ลงในนิตยสารทางการเงิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเข้ามาตรวจสอบธุรกิจของ พอนซี และได้พบว่า ธุรกิจของเขานั้น เขานำเงินลงทุนจากผู้ลงทุนรายใหม่ มาจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนรายเก่า วนแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ พอนซี ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ถูกจำคุก และเนรเทศกลับ อิตาลี บ้านเกิดของเขา

แต่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนกว่าหมื่นรายนั้น พอนซี ได้จ่ายเงินปันผลคืนให้กับผู้ลงทุนไปเพียงร้อยละ 30 ของเงินต้นที่ผู้ลงทุน ลงทุนไปเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น เขาไม่มีเงินคืนอีกเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่เกิดเหตุ หรือ 257 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน คิดเป็นเงินไทยคือ 9,252 ล้านบาท และการฉ้อโกงระดับโลกของ พอนซี ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 9 เดือน เท่านั้น

จะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือ แชร์ลูกโซ่

ไทยพีบีเอสออนไลน์แนะนำข้อสังเกตที่น่าสนใจของธุรกิจที่เข้าข่าย แชร์ลูกโซ่ ถ้ามีการเชิญชวนในลักษณะดังต่อไปนี้

1. ให้ผลตอบแทนสูง และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั่วไป
2. ระยะเวลาการลงทุนสั้น และได้ผลตอบแทนกลับมาไว
3. มีคนที่มีชื่อเสียง หรือมีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่ดูใหญ่โต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการลงทุน
4. มีการแนะนำ เชิญชวน คนอีกมากมายให้มาร่วมลงทุนด้วยกัน

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นประโยคที่ห้อยท้ายเอกสารการลงทุนในแทบทุกสถาบันการเงิน เพื่อย้ำเตือนให้นักลงทุนทุกคนต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ในมุมของนักลงทุนบางคน อาจจะยึดถือวลี “High Risk High Returns” ลงมากได้มาก เสี่ยงมากได้ผลตอบแทนมาก

ไม่มีประโยคไหนที่ผิดไปทั้งหมด หรือถูกเสียทั้งหมด แต่การศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการลงทุน ย่อมเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ตัวนักลงทุนเอง เพราะแม้ว่าจนถึงวันนี้ พอนซี จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่กลยุทธ์การฉ้อโกง หรือ แชร์ลูกโซ่ ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมี “ความโลภ” อยู่ในตัว

อ่านข่าวเพิ่ม : https://www.thaipbs.or.th/news/content/319422

ที่มา : ชาร์ลส์ พอนซี ต้นกำเนิดของแชร์ลูกโซ่ (longtunman.com)
         Ponzi scheme - Wikipedia

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง