เปิดแผนคุมโควิด-19 หลังเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้

สังคม
26 ก.ย. 65
13:05
515
Logo Thai PBS
เปิดแผนคุมโควิด-19 หลังเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.เปิดแผนคุม "โควิด-19" หลังยุบ ศบค. ปรับเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ ย้ำว่าผู้ป่วยยังเข้าถึงยาและการรักษาเหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาได้ทุกที่จนหายป่วย แต่ยังแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด

วันนี้ (26 ก.ย.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุบ ศบค. จากที่มีการปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุข มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป

นอกจากนี้ สธ.ยังจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเสนอต่อ ครม.อนุมัติต่อไป

 

เตียง ยา บุคลากรเพียงพอ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัด 900 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกกว่า 9,000 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 400,000 คน จึงมีความพร้อมที่จะการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีเตียงผู้ป่วย 73,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษา 4,800 คนคิดเป็น 6% เป็นการครองเตียงระดับ 2.1 และระดับ 1 คือ กลุ่มอาการไม่รุนแรง ประมาณ 90%

ส่วนยารักษา ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 4.5 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช้เฉลี่ย 1.2 พันขวดต่อวัน เพียงพอใช้ครึ่งเดือน

นอกจากนี้ มีแผนจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน และหากในอนาคตผู้ป่วยน้อยลงจะมียาใช้ได้นานกว่าที่ประมาณการไว้

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าปี 2566 อาจพบการระบาดในลักษณะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ และเมื่อเข้าสู่ระยะเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1. เฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล 2.การระวังแบบกลุ่มก้อน 3.เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนอกสถานพยาบาล และ 4. เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์

ขณะเดียวกันแนะนำให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ส่วนคนไม่มีอาการป่วยไม่ต้องตรวจ และแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท

สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ควรมารับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขณะนี้มีวัคซีนสำรอง 42 ล้านโดส ใช้ได้อย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในปีหน้าจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาจากปัจจัยว่ามีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ รวมทั้งการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่

แนะผู้ป่วยปฏิบัติตาม DMHT

นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มว่า ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจแนะนำให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนประชาชนทั่วไป ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย

 

สำหรับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ให้คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ส่วนมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้ 

  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง 2 กลุ่มนี้ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน 2 กลุ่มนี้จะรักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน

"ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้ง เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้

รับการรักษาฟรีตามสิทธิ

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น

ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมง จะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด (ไกด์ไลน์) เป็นครั้งที่ 25 รวมแล้ว 2 ปี 9 เดือน เรามีไกด์ไลน์แล้ว 26 ฉบับ โดยแนวทางนี้เป็นร่างที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังสรุปเพื่อนำเสนอที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ต.2565 โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ ส่วนการให้ยา หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน

 

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นยาเรมดิซีเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ตามลำดับ

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง