สืบพยานนัดแรก "ชาวบ้านหนองพะวา" ฟ้อง "วิน โพรเสสฯ" ก่อมลพิษ

สิ่งแวดล้อม
19 ต.ค. 65
18:01
1,466
Logo Thai PBS
สืบพยานนัดแรก "ชาวบ้านหนองพะวา" ฟ้อง "วิน โพรเสสฯ" ก่อมลพิษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สืบพยานนัดแรกคดีหนองพะวา ฟ้องบริษัท วินโพรเสส เปิดเส้นทางการร้องเรียนของชุมชนและปัญหาเรื้อรังนานนับ 10 ปี

วันนี้ (19 ต.ค.2565) มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.2565) ศาลจังหวัดระยอง เริ่มสืบพยานเป็นครั้งแรกในคดีที่ชาวบ้านบ้านหนองพะวา หมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 15 ราย ยื่นฟ้องบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในข้อหาก่อมลพิษสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกว่าร้อยไร่

โดยเรียกร้องให้จำเลยเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเงินมูลค่า 47 ล้านบาท รวมทั้งฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม สำหรับการสืบพยานในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์

คดีนี้ชาวบ้านยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ซึ่งชาวบ้านบ้านหนองพะวา ระบุว่า การตัดสินใจยื่นฟ้องคดีเกิดขึ้น หลังจากที่คนในพื้นที่ได้ประสบความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการรีไซเคิล ของบริษัท วิน โพรเสสฯ มานานนับสิบปี

ร้องบริษัทก่อมลพิษแต่ได้รับใบอนุญาต

นับตั้งแต่ที่บริษัทแห่งนี้นำของเสียอุตสาหกรรมเข้ามากักเก็บไว้เมื่อปี 2556 ซึ่งในตอนนั้นบริษัทฯ ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการใด ๆ และประชาชนในพื้นที่ได้คัดค้านการจัดตั้งโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น

ต่อมา เมื่อเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็น และปัญหาน้ำเน่าเสีย จึงได้ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่เป็นผล ปัญหามลพิษในพื้นที่ขยายวงกว้างขึ้น และยังส่งผลกระทบอยู่ทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือ บริษัทฯ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว 3 ใบ

เบื้องหลังการสืบพยานในคดี “หนองพะวา-วินโพรเสส” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวานนี้เป็นวันแรก ถือเป็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ และยังทิ้งร่องรอยความเสียหายบนสวนยาง และไร่นาของประชาชนในพื้นที่ จวบจนวันนี้

ชาวบ้านคัดค้านมาตั้งแต่ต้น

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดมาตั้งแต่ปี 2554 เมื่อบริษัท วิน โพรเสสฯ ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูล และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ถูกคัดค้านจากชาวชุมชนบ้านหนองพะวานับตั้งแต่แรก

หลักฐานการคัดค้านเกิดขึ้นในวันที่ 15 ก.พ.2555 โดยประชาชนในพื้นที่ 213 ราย มีการลงคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งโรงงานของบริษัทฯ ส่วนผู้เห็นด้วยมีเพียง 2 ราย และไม่แสดงความเห็นอีก 3 ราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทฯ ในเวลาต่อมา

ลักลอบทิ้งของเสีย

วันที่ 1 เม.ย.2556 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เข้าตรวจสอบกรณีลักลอบฝังกลบของเสียในพื้นที่ของบริษัท วิน โพรเสสฯ ผลการตรวจพบว่า มีการขุดบ่อในการฝังกลบจำนวน 3 บ่อ และพบการอัดก้อนกระดาษ คัดแยกขยะต่าง ๆ แบ่งเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้ว และแปรรูปน้ำมันเครื่อง มีอาคารโรงเก็บของ 5 โรง มีการเก็บขยะจำพวกเศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี และ น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

ต่อมาศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออก เข้าร่วมตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงงาน โดยมีการขุดหลุมบริเวณที่ชาวบ้านสงสัยว่า จะมีการลักลอบฝังกลบไปแล้ว

ซึ่งพบว่า มีไอระเหยจากหลุม ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง รวมทั้งมีการตรวจวัดพบสารอินทรีย์ระเหยทั้งหมด (Total VOCs) สูงกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน “จึงน่าเชื่อได้ว่ามีการปนเปื้อนของตัวทำละลาย (Solvent)”

นอกจากนี้ยังได้ตรวจวัดน้ำจากหลุมฝังกลบ พบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) 37 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมัน และไขมัน 106 มิลลิกรัม/ลิตร จัดเป็นวัตถุอันตรายในลำดับที่ 50 (ของเสียผสมระหว่างน้ำมัน /น้ำ หรือไฮโดรคาร์บอน/น้ำ หรืออยู่ในรูปอิมัลชัน) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย พ.ศ.2538

ชุมชนชุมนุมสู่การคัดค้านต่อเนื่อง

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน รวมตัวกันปักหลักชุมนุมหน้าพื้นที่ของบริษัทฯ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินการขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงาน

นอกจากนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทฯ ในข้อหาตั้งและประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย โดยไม่ได้รับอนุญาต และครอบครองวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต

ระหว่างปี 2557-2559 บริษัท วิน โพรเสสฯ พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกสองครั้ง แต่ถูกชาวบ้านหนองพะวาคัดค้านทั้งสองรอบ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัท วิน โพรเสสฯ ได้ดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มาโดยตลอด ซ้ำยังมีพฤติกรรมเพิกเฉยคำสั่งหน่วยงานรัฐ และไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย ชาวบ้านจึงเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจบริษัทฯ

โดยเอกสารคัดค้านฉบับหนึ่ง ยังระบุเจตนารมณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนว่า

“พวกเราชาวบ้านผู้มีรายชื่อท้ายหนังสือนี้ ขอแสดงความคิดเห็นโต้แย้งการขออนุญาตตั้งโรงงาน รวมถึงคัดค้านให้ใช้ พื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่สุขภาพอนามัยไว้ให้ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต”

เป็นโรงงานถูกกฎหมาย

แต่แล้วในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กลับมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัท วิน โพรเสสฯ เป็นจำนวนถึง 3 ใบ ทำให้บริษัทฯ มีสถานะเป็นโรงงานถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา ท่ามกลางผลงานการก่อปัญหาที่ยังคาราคาซัง
สำหรับใบอนุญาตทั้ง 3 ใบ ได้แก่
1.ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 40 (1) และ 64 (11) ประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก และคัดแยกของใช้แล้วทั่วไป
2.ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 60 ประกอบกิจการหล่อหลอมโลหะ
3.ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการรีไซเคิล คืนสภาพกรดด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม ล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย

ในปีเดียวกันนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้มอบใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่บริษัท วิน โพรเสสฯ อีก 4 ใบ

มลพิษขยายวงกว้าง

หลังปี 2560 ปัญหามลพิษที่หนองพะวาทวีความรุนแรงขึ้นอย่างแจ้งชัด น้ำในลำรางหน้าโรงงานเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีพืชตาย ต้นหญ้าบนที่ดินทางทิศเหนือของโรงงานล้มตายเป็นบริเวณกว้าง ปลาและสัตว์น้ำในแหล่งน้ำใกล้โรงงานล้มตาย

สวนยางของ นายเทียบ สมานมิตร หรือ ลุงเทียบ เกษตรกรที่อาศัยอยู่ข้างโรงงาน เริ่มประสบปัญหาน้ำเน่า น้ำในสระหนองพะวา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสถานที่ที่คนท้องถิ่นเคยใช้จับปลาและจัดงานลอยกระทง กลายเป็นสีส้ม มีฟอง และส่งกลิ่นเหม็นเน่า

ช่วงนี้ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐอีกหลายครั้ง จนกระทั่งต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาขึ้นมา แต่คณะทำงาน ก็ไม่สามารถทำให้มีการแก้ปัญหาแต่อย่างใด

ปี 2563 ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างจนมิอาจหลีกเลี่ยง สวนยางของลุงเทียบกลายสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม บ่อน้ำในสวนกลายเป็นสีอำพันปนดำ กลิ่นสารเคมีตลบอบอวล ต้นยางยืนต้นตายเป็นหลักพันต้น

การตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษในปีเดียวกัน พบว่า น้ำผิวดินรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด ทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงบ่อบาดาลของประชาชน โดยสวนของลุงเทียบเป็นหนึ่งในจุดที่ปนเปื้อนรุนแรงที่สุด

กรมควบคุมมลพิษตรวจพบสารทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุไว้ในประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

(ค่ามาตรฐานเทียบเคียงคือ ค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ประเภทที่ 4 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ ก) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน ข) การอุตสาหกรรม)

มลพิษยังคงอยู่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาทำให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท วิน โพรเสสฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564

เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ น้ำในสวนยางของลุงเทียบและสระหนองพะวา ยังเป็นกรดและยังปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยยังมีสารบางตัวสูงเกินค่ามาตรฐานฯ

ทั้งหมดนี้คือที่มาของคดีหนองพะวา-วินโพรเสส ซึ่งเมื่อวานนี้เป็นวันเริ่มการสืบพยานโจทก์ นี่เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

ผลการพิพากษาในคดีนี้จะนำไปสู่การแก้ไขและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ ข้อเท็จจริงจะปรากฏออกมาอย่างไร เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องอาศัยการจับตามองของสังคมกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง