กสศ.เปิดรายงานวิกฤตการเรียนรู้ ของเด็กประถมต้น หลังโควิด-19

สังคม
25 ต.ค. 65
09:58
649
Logo Thai PBS
กสศ.เปิดรายงานวิกฤตการเรียนรู้ ของเด็กประถมต้น หลังโควิด-19
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รายงานพิเศษ “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผย ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้เพราะโควิด-19 “เด็กประถมต้น” มีพัฒนาการถดถอยเทียบเท่าอนุบาล และภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง หากไม่เร่งฟื้นฟู โอกาสล้มเหลวในอนาคตสูง

วันนี้ (25 ต.ค.2565) ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า แม้การระบาดของโควิด-19 กำลังจะจบ แต่ยังมีวิกฤตซึ่งเกิดจากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาที่ต้องเร่งรับมือและแก้ไข

จากการศึกษาของ กสศ.พบว่า ในหนึ่งภาคเรียนที่ผ่านมา พบภาวะฉุกเฉินการเรียนรู้ที่เกิดกับเด็กทั้งประเทศ โดยเฉพาะเด็กช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น

จากผลวิจัยสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) เพื่อประเมินว่า เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษาหรือไม่

เป็นการวัดทักษะพื้นฐานด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปี 2563-2565 พบว่า เด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19 ขาดความพร้อมเข้าเรียนประถมต้นในปัจจุบัน ผลกระทบนี้ทำให้เด็กปฐมวัยรุ่นนี้มีโอกาสเป็นเด็กหางแถวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุว่า เด็กปฐมวัยที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา เพราะพวกเขาคือเด็กอนุบาลยุคโควิด-19 ที่ข้ามมาเรียนชั้นประถมต้นในปัจจุบัน

ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การปิดเรียนแต่ละวันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กปฐมวัย-อนุบาลเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่าร้อยละ 90 ของระดับการเรียนรู้ที่ควรจะได้ จึงส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ขึ้น ที่เด็กประถมต้นในวันนี้มีพัฒนาการเท่าเด็กชั้นอนุบาล

แม้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอยทุกระดับชั้น แต่ช่วงประถมตอนต้น คือพื้นฐานสําคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคตสููง ด้วยพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทําให้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า รายงานล่าสุดในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 ระบุว่า เด็กเล็กมากกว่า 167 ล้านคนทั่วโลก สูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาก่อนปฐมวัย

เด็กอายุ 10 ปี จากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้ เพิ่มขึ้นจาก 53 เปอร์เซ็นต์ เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 34 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั่วโลก มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเพิ่มขึ้น

นักการศึกษาทั่วโลกต่างเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้ และพยายามกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ลงทุนในการแก้ปัญหาและมีแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน เพราะเราอาจสูญเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generation

นักเรียน 98 % พบสัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง”

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ ครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ได้วิจัยเชิงพื้นที่เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส เป็นการทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็ก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน ด้วยการวัดแรงบีบมือ

ผลการวิจัยพบว่า นักเรียน 98 เปอร์เซ็นต์ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จับดินสอผิดวิธี ซึ่งสะท้อนว่า กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย

จากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน 74 โรงเรียน ได้สรุปเป็น 14 สัญญาณเตือนกล้ามเนื้อบกพร่อง ในเด็กประถมต้น และข้อค้นพบจากห้องเรียนฟื้นฟูที่เด็กๆ มีพัฒนาการที่ค่อยๆ ดีขึ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน

สำหรับ 14 สัญญาณเตือน ที่ค้นพบ อาทิ เด็กพูดเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค, เล่าเรื่องไม่ได้, ท่าทางจับดินสอผิด, เกร็งเมื่อยล้า, เขียนได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ, ตอบคำถามเป็นคำๆ หรือประโยคสั้นๆ, อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้แม้คําพื้นฐาน, กระโดดขาเดียวและกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้, เด็กบางคนมีอาการทางจิตใจ เช่น เครียด ไม่โต้ตอบ ไม่สื่อสาร แยกตัวจากเพื่อน งอแง ขาดเรียนบ่อย ไปห้องน้ำบ่อยและไปครั้งละนานๆ

บางคนขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดหัว ปวดท้องบ่อยจนผิดสังเกต ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นให้โรงเรียนและครอบครัวสังเกตบุตรหลานหรือลูกศิษย์ของตนเอง และช่วยกันฟื้นฟูให้ทันท่วงที

ดร.อุดม ระบุว่า การแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต้องร่วมกับครูและโรงเรียน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย ทําอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เวลา ให้กําลังใจ ให้โอกาสเด็ก และขยายผลไปยังป.1 และ ป.3

ซึ่งการฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป หากได้ฝึกอย่างจริงจัง 2 สัปดาห์หรือ 14 วัน เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างชัดเจน มีค่าแรงบีบมือจาก 7.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 9.8 กิโลกรัม ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการฟื้นฟู

ชี้ 5 แนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กปฐมวัย

ส่วนแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้นระดับโรงเรียนและครอบครัวไว้มีขั้นตอน ดังนี้

1.สังเกต วิเคราะห์พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เคยทำได้ แต่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม

2.สํารวจสุขภาพจิตใจของเด็กๆ ว่ามีความสุขในการเรียนหรือไม่

3.หยุดการเร่งสอนเร่งเรียน ชะลอ 8 สาระวิชาเมื่อพัฒนาการและสมองยังไม่พร้อมเรียนรู้ยังทํางานได้ไม่เต็มที่ เพราะจะส่งผลเสียให้การเรียนเป็นความทุกข์และทำให้เด็กหันหลังให้กับห้องเรียน

4.ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อแขน ขา ลำ ตัว และระบบประสาทสัมพันธ์ ทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องในช่วงชั้นประถมต้น

5.การฟื้นฟูได้เร็ว ครอบครัวกับโรงเรียนต้องทํางานประสานกัน จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง