คู่แรก! พา "นกกาฮัง" คืนป่าภาคเหนือในรอบ 20 ปี

สิ่งแวดล้อม
28 ต.ค. 65
17:55
650
Logo Thai PBS
คู่แรก! พา "นกกาฮัง" คืนป่าภาคเหนือในรอบ 20 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครั้งแรก! ปล่อย "นกกาฮัง" คู่แรกคืนสู่ธรรมชาติ หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือของไทย มานานกว่า 20 ปี องค์การสวนสัตว์ เล็งทยอยปล่อยเพิ่มอีก 6 อุทยานภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565 นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประ เทศไทย นายสักรินทร์ ปัญญาใจ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะนักวิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันปล่อยนกกาฮัง 2 ตัวคู่แรกที่ได้รับการคัดเลือก และฟื้นฟูพฤติกรรมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรก 

นายอรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่กระจายของนกกาฮัง อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แม้จะมีพื้นที่การกระจายที่กว้าง แต่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ ทั้งนี้พบว่าบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น พื้นที่ทางภาคเหนือ นกกาฮังได้สูญหายจากธรรมชาติไปหมดสิ้นในช่วง 20 ปี

ถือเป็นนกกาฮังคู่แรก ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของภาคเหนือ หลังสูญหายนาน 20 ปีภายใต้โครงการพานกกาฮังปิ๊กบ้าน เป็นการบูรณาการงานด้านพันธุกรรม ประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทดลองปล่อย การฟื้นฟูพฤติกรรมมาใช้ 
ภาพ:องค์การสวนสัตว์

ภาพ:องค์การสวนสัตว์

ภาพ:องค์การสวนสัตว์

วางแผนปล่อยนกกาฮัง เพิ่มอีก 6 แห่ง

สำหรับนกกาฮัง หรือ นกกกนั้น ถือเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

ความสำคัญของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรขึ้น ในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทยตามแผนระยะที่ 1 ทางโครงการวิจัยฯ มีแผนการทดลองปล่อยนกกาฮังคู่แรกคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง

ภาพ:องค์การสวนสัตว์

ภาพ:องค์การสวนสัตว์

ภาพ:องค์การสวนสัตว์

 

หลังจากนี้ จะศึกษาการใช้พื้นที่เชิงนิเวศ การกระจาย และการอยู่รอดได้ในพื้นที่ โดยจะทยอยปล่อยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน รวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ กว่า 6 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติขุนแจ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง