ไทยอาจได้วัตถุโบราณคืนจากต่างประเทศปีหน้า

สังคม
1 พ.ย. 65
16:02
896
Logo Thai PBS
ไทยอาจได้วัตถุโบราณคืนจากต่างประเทศปีหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2566 ไทยอาจได้ประติมากรรมคืนจากพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ด้านกรมศิลปากรเดินหน้าสกัดการลักลอบนำวัตถุโบราณไทยออกขายต่างประเทศ และพร้อมเปิดทางทำงานวิชาการ เพื่อติดตามโบราณวัตถุร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

ประติมากรรมจากพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ไทยมีโอกาสได้วัตถุโบราณประเภทประติมากรรมเพิ่มเติมจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาในปี 2566 แต่ยังไม่ขอให้รายละเอียดว่าเป็นรายการใดและจำนวนเท่าไร บอกเพียงว่าเป็นวัตถุโบราณที่อยู่ในรายการของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยอยู่เดิมแล้ว หากมีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น ทางกรมศิลปากรในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ จะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง

ตอนนี้มีวัตถุโบราณบางรายการอยู่ระหว่างการประสานขอคืนจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา แต่กฎหมายแต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ระยะเวลาการติดตามแต่ละรายการไม่เท่ากัน
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

อธิบดีกรมศิลปากร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ เป็นคณะกรรมการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งในปี 2560 และให้แนวทางการทำงานไว้ว่าให้ใช้กลไกทางการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีกรมศิลปากรเป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร ฯลฯ โดยการอนุมัติรายการติดตามแต่ละครั้ง คณะกรรมการจะอาศัยข้อมูลจากอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายประกอบร่วมกัน

ไม่ใช่ทุกชิ้นที่เราจะติดตามกลับมา ต้องมีหลักฐานแน่นหนาว่านำออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีแหล่งกำเนิดในไทย

นายพนมบุตร กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรจะเข้มงวดไม่ให้เกิดการนำวัตถุโบราณไทยออกนอกประเทศ เพื่อสกัดกั้นตั้งแต่ต้นทาง โดยให้ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งจะส่งผลให้ไทยไม่ต้องติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศต่อไปในอนาคต

พร้อมตรวจสอบโบราณวัตถุของนักสะสมระดับโลก หากมีหลักฐานมากพอ

เดือนสิงหาคม 2563 นายดักลาส แลทช์ฟอร์ด (Douglas Latchford และมีชื่อภาษาไทยว่า นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์) นักสะสมวัตถุโบราณและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเขมร ชาวอังกฤษ สัญชาติไทย ได้เสียชีวิตลง

ต่อมาในปี 2564 ลูกสาวของนายดักลาส เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า เธอจะคืนวัตถุโบราณศิลปะเขมรซึ่งอยู่ในการครอบครองพ่อของเธอ อย่างน้อยจำนวน 125 รายการ มูลค่ารวมกันกว่า 1,900 ล้านบาท ให้กับประเทศกัมพูชา

ภาพ นายดักลาส แลทช์ฟอร์ด (ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

ภาพ นายดักลาส แลทช์ฟอร์ด (ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

ภาพ นายดักลาส แลทช์ฟอร์ด (ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

การเปิดเผยแผนคืนวัตถุโบราณศิลปะเขมรของลูกสาวดักลาส ทำให้กรมศิลปากรถูกจับตามองมาตลอดว่าจะเข้าไปตรวจสอบรายการดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากวัตถุโบราณศิลปะเขมรนั้น สามารถพบได้ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ดังนั้น ประเทศไทยจะแน่ใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีวัตถุโบราณศิลปะเขมรที่พบในไทยปะปนอยู่ในรายการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา รายการติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศหลายชิ้น ก็เป็นของที่นายดักลาสปล่อยขายไปยังต่างประเทศเมื่อสมัยที่เขามีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เพจเฟสบุ๊กของสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ชุดภาพคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าร่วมอวยพรวันเกิดนายดักลาส วัย 84 ปี นายกสมาคมฯ ในขณะนั้น ที่บ้านพักอาคารชิดลมเพลส กรุงเทพฯ ซึ่งเผยให้เห็นประติมากรรมหลายชิ้นภายในบ้านพักของนายดักลาส

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)

(ที่มา Facebook : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย)


นายพนมบุตร กล่าวว่า เขารับทราบถึงข้อกังวลดังกล่าวแล้ว โดยพบว่าเป็นความห่วงใยของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญบางคน แต่ทางกรมศิลปากรต้องการชี้แจงให้ทราบว่า หากรายการส่งคืนทั้งหมดต้องนำออกจากประเทศไทย ทางครอบครัวของนายดักลาสต้องทำเรื่องขอนำออกกับกรมศิลปากร ทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรสามารถตรวจสอบได้ว่ามีรายการใดเป็นของไทยบ้าง และทักท้วงได้ทันก่อนนำออกนอกประเทศ แต่ถ้าหากเขานำออกโดยไม่ขอกรมศิลปากร เนื่องจากส่งจากประเทศอื่นไปยังกัมพูชา และเห็นว่ามีวัตถุโบราณรายการใดเป็นของไทย ก็สามารถติดตามคืนได้ผ่านคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ

เหตุเพราะว่า ศิลปะของเขมรที่พบในไทยบางช่วงบางเวลามันเหมือนกัน เกือบจะแยกไม่ออกว่าอะไรกำเนิดในไทย อะไรกำเนิดในเขมร เพราะฉะนั้นตอนนี้มันเป็นเรื่องข้อสันนิษฐาน หรือเป็นเรื่องของความกังวล แต่ไม่ได้มีหลักฐานว่ามันมีโบราณวัตถุของไทยอยู่ในรายการที่เขาจะคืนไปยังกัมพูชา

ไม่ปิดทางความร่วมมือติดตามวัตถุโบราณไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทางไทยจะทำงานร่วมกันกับทีมงานติดตามวัตถุโบราณของประเทศกัมพูชา เนื่องจากมีจำนวนวัตถุโบราณหลายรายการที่เคยอยู่ในมือนายดักลาส นักสะสมโบราณวัตถุคนเดียวกัน นายพนมบุตรกล่าวว่า เขาไม่สามารถก้าวล่วงให้คำตอบแทนคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ได้

ทุกอย่างไม่มีการปิดประตูในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด มันจะต้องเริ่มต้นจากงานวิชาการ และผมเชื่อว่างานวิชาการเป็นเรื่องสากล ไม่ได้เป็นเรื่องของชาติใดชาติหนึ่ง งานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นเรื่องของมนุษยชาติ จึงไม่มีประตูบานใดบานหนึ่งปิดตาย ร่วมงานกันได้หมด แต่ผมตอบแทนคณะกรรมการชุดใหญ่ไม่ได้

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในแฟ้มข่าวโดยไทยพีบีเอส พบว่า ปี 2558 ไทยได้ส่งคืนวัตถุโบราณที่ถูกตรวจยึดได้ในประเทศไทย ส่งคืนไปยังประเทศกัมพูชา จำนวนทั้งหมด 16 รายการ และเหลืออีก 20 รายการที่กรมศิลปากรตรวจสอบแล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่

เมื่อสอบถามประเด็นนี้กับอธิบดีกรมศิลปากรว่า ไทยมีแนวโน้มจะส่งคืนวัตถุโบราณให้กับกัมพูชาเพิ่มเติมจากกรณีนี้หรือไม่ เนื่องจากผ่านมาเกือบ 7 ปีแล้ว นายพนมบุตรกล่าวว่า กรมศิลปากรยินดีส่งมอบให้ประเทศกัมพูชาทันที หากสามารถสำแดงหลักฐานได้ว่ารายการใดบ้างเป็นวัตถุโบราณที่มาจากประเทศกัมพูชา

โบราณวัตถุที่เป็นหินทราย หรือชิ้นส่วนของโบราณสถานจากปราสาทหิน พบได้ทั้งในไทยและกัมพูชาเหมือนกัน ประติมากรรมหินทราย เทวรูปต่างๆ ถ้าเป็นหินทราย จากประสบการณ์ที่เรียนมา หินทรายมีความใกล้เคียงกัน อาจมีลักษณะเฉพาะตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกว่าอันนี้ไม่ใช่ของเขมร อันนี้เป็นของไทย แต่ถ้าเป็นสำริด งานของเขมรจะน้อยกว่าของไทย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่คืน ทางเราพร้อมคืน ถ้ามีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นของกัมพูชาแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง