ศูนย์วินิจฉัย “ดื้อโบ” แห่งแรกในไทย ตรวจลึกรู้ดื้อโบท็อกซ์แบรนด์ไหน

สังคม
3 พ.ย. 65
13:17
1,472
Logo Thai PBS
ศูนย์วินิจฉัย “ดื้อโบ” แห่งแรกในไทย ตรวจลึกรู้ดื้อโบท็อกซ์แบรนด์ไหน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“รพ.ศิริราช” เปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ ใช้การเจาะเลือดตรวจวิเคราะห์ พบส่วนใหญ่ดื้อโบทูลินัมแบรนด์เอเชียมากกว่ายุโรป สาเหตุฉีดบ่อย ใช้ต่อเนื่องนานเกิน 5 ปี

การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน หรือโบท็อก ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พบคนที่เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น อายุไม่มาก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนคลินิกเสริมความงามที่แข่งขันกันดึงดูดลูกค้า แต่บางคนกลับเจอปัญหาเสี่ยงไม่ปลอดภัย บางคนฉีดต้องถี่ขึ้น จนเกิดความสงสัย "ภาวะดื้อโบ"

ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเปิดตัว "ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ สวยปลอดภัย ไม่เสื่ยง ดื้อโบ" ที่ รพ.ศิริราช

พญ.รังสิมา กล่าวว่า "โบทูลินัมท็อกซิน" ไม่ได้ใช้เพื่อเสริมความงามเพียงอย่างเดียว แต่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วย เช่น คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ซึ่งจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดี เมื่อเทียบกับการรักษาโดยกินยา โดยเฉลี่ยที่ผ่านมามีคนไข้เข้ารับการรักษาอยู่ที่ 100-120 คนต่อเดือน

ด้วยภาวะการใช้โบทูลินัมในการรักษา เช่น คนไข้ทีมีภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ต้องใช้ยาขนาดสูง จึงเสียงที่จะมีภาวะดื้อโบ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้ "โบทูลินัมท็อกซิน" เพิ่มขึ้น ขณะที่คนที่เริ่มใช้อายุน้อยลง

สัญญาณเตือนภาวะดื้อโบ?

ศ.พญ.รังสิมา กล่าวถึง การสังเกตว่าเข้าข่ายภาวะดื้อโบ ทำได้ 2 กรณี ยกตัวอย่างคนไข้เคยฉีดขนาดยา 50 ยูนิต เห็นผลเพียง 3-4 เดือน แต่ระยะเวลาก็เริ่มลดลงมา 2 เดือน ต้องกลับมาพบหมอบ่อยขึ้นใช้ปริมาณยาเท่าเดิมแต่ไม่เห็นผลลัพธ์เท่าเดิม การออกฤทธิ์ที่ไม่เห็นผลลัพธ์เหมือนเดิม

ที่ผ่านมามีเคสลักษณะแบบนี้เพิ่มขึ้น บางคนคิดว่าเพราะวัยหรือริ้วรอยมากขึ้น จึงเพิ่มปริมาณการฉีด ฉีดบ่อย หรือหากฉีดสลับยี่ห้อก็เสี่ยงที่จะดื้อโบท็อกได้เช่นเดียวกัน

การสร้างแอนติบอดีในแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนบางคนภูมิขึ้นมากกว่า และอีกส่วนคือตัวผลิตภัณฑ์ที่ฉีดเข้าไปด้วย หากฉีดผลิตภัณฑ์ที่กระตุ้นภูมิได้มากกว่า ก็ดื้อง่ายกว่า แบบเดียวกันเราฉีดวัคซีนหลาย ๆ ตัว จากที่พบบางคนดื้อโบท็อกซ์ทุกแบรนด์ บางคนดื้อแค่บางแบรนด์

ในประเทศไทยมีโบทูลินัมท็อกซินที่ผ่านการรับรองโดย อย.หลายแบรนด์ และจากการติดตามภาวะดื้อโบท็อกซ์ ในแบรนด์พบว่า แบรนด์โบทูลินัมท็อกซินในโซนเอเชีย มีความเสี่ยงดื้อมากกว่า และกระตุ้นภูมิได้มากกว่า แถบยุโรป อังกฤษ เยอรมนี

ฉะนั้นการใช้โบทูลินัมท็อกซิน จึงควรมีการพิจารณาจากแหล่งที่มาว่าได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และแพทย์ที่ดำเนินการฉีดว่า ได้รับการรับรองหรือไม่

ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คิดหาวิธีทดสอบวัดปริมาณแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเกิดความล้มเหลว รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายคนไข้ประสบภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าเดิม

การตรวจหาภาวะดื้อโบจะมีการเจาะเลือดคนไข้ ใช้เวลาตรวจประมาณ 10 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะทราบผล ซึ่งจะระบุว่ามีภาวะดื้อหรือไม่ดื้อโบ มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1,600 บาท

ศ.พญ.รังสิมา กล่าวว่า กรณีเสริมความงามพบการดื้อ "โบทูลินัมท็อกซิน" มากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน

จากการติดตามเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยมีภาวะดื้อปี 2564-2565 จำนวน 137 คน พบว่ามีภาวะดื้อโบ 79 คน หรือคิดเป็น 58 % เมื่อเกิดการดื้อโบก็จะทำให้ต่อไปฉีดไม่ได้ผล แต่เมื่ออายุมากขึ้นหากมีการเจ็บป่วยโรคกล้ามเนื้อก็อาจมีความเสี่ยงเมื่อใช้โบทูลินัมท็อกซินรักษาในอนาคต

พญ.รังสิมา อธิบายว่า ตัวเลขดังกล่าวจำแนกได้ว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 48 % ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 18 % และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8 %

ผลการศึกษาพบว่า บางคนที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้น ต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น

จึงแนะนำให้คนไข้เลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ในอนาคต

สำหรับการทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก จนสามารถนำมาให้บริการทางคลินิกในการช่วยเหลือคนไข้ได้ เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีด เคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด

ลักษณะการไม่ตอบสนอง เพื่อหาแนวทางการรักษาของคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษา หรือเลือกโบทูลินัมท็อกซินได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาฉีดได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย

ฉีดโบท็อกซ์ ให้ปลอดภัยไม่ดื้อ?

ศ.พญ.รังสิมา ยังให้คำแนะนำในการฉีดโบท็อกซ์ เพื่อป้องกันและลดการดื้อโบ ว่าควรรับบริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อให้ได้รับในปริมาณและความถี่อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงภาวะดื้อโบ

อย่างไรก็ตาม พบว่าการสลับยี่ห้อบ่อยครั้งในการฉีดโบท็อกซ์ เหมือนเป็นการนำร่างกายไปฉีดวัคซีนหลาย ๆ ตัว ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง เปรียบเทียบกับการนำสิ่งแปลกปลอมหลายชนิดเข้ามาในตัว

จึงแนะนำว่าควรเว้นระยะห่างการฉีดอย่างน้อย 3-4 เดือน และไม่ควรฉีดปริมาณมาก ส่วนผู้ที่ไม่เคยฉีดโบท็อกซ์ หรือไม่มีอาการบ่งชี้ว่าดื้อโบท็อก อาจไม่มีความจำเป็นเข้ารับการตรวจ

ทั้งนี้ หากตรวจพบภาวะดื้อโบท็อกซ์ แนะนำให้เว้นการฉีด 6-8 เดือน เพื่อที่จะให้ระบบภูมิคุ้มกันน้อยลงแล้วค่อยมาฉีดใหม่ รวมทั้งมีการแนะนำผลิตภันฑ์ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้น้อยที่สุด

ศูนย์นี้จะช่วยคนไข้ได้ในกรณีที่คนไข้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้โบ เพื่อการรักษา หรือใช้เพื่อความงาม หากคนไข้ดื้อต่อทุกแบรนด์จะแนะนำให้หยุดฉีด เพราะหากฉีดต่อไปอาจทำให้มีภาวะดื้อหนักขึ้น ตรงนี้จะทำให้หมอมีแนวทางที่จะดูแลคนไข้ให้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง