ทลายแหล่งผลิต "ยาแก้ไอปลอม" ยึดของกลางเตรียมขาย 60,000 ขวด

อาชญากรรม
8 พ.ย. 65
11:58
1,070
Logo Thai PBS
ทลายแหล่งผลิต "ยาแก้ไอปลอม" ยึดของกลางเตรียมขาย 60,000 ขวด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจ ปคบ.สืบสวนพบแหล่งผลิตยาแก้ไอปลอมใน จ.นครศรีธรรมราช ค้นโรงงานพบยาแก้ไอปลอมบรรจุขวดพร้อมขายมากกว่า 60,000 ขวดและของกลางอีกหลายรายการ

วันนี้ (8 พ.ย.2565) ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับองค์การอาหารและยา ร่วมกันสืบสวนแหล่งผลิตยาแก้ไอปลอม โดยยึดยาแก้ไอหลายยี่ห้อ รวมถึงอุปกรณ์การผสมยา บรรจุขวดและสารตั้งต้นหลายรายการ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการ ปคบ. เปิดเผยว่า ชุดสืบสวนขยายผลตามเส้นทางสารตั้งต้นที่มีการสั่งส่วนผสมยาแก้ไอจากกรุงเทพฯ กระทั่งพบแหล่งผลิตใน จ.นครศรีธรรมราช และหลังผลิตแล้วส่วนใหญ่จะกระจายจำหน่ายอย่างแพร่หลายใน จ.นครศรีธรรมราชและภูเก็ต รวมถึงอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความนิยมดื่มเครื่องดื่มมึนเมาที่มีส่วนผสมจากยาแก้ไอ เช่น 4 คูณ 100

 

ส่วนผลการตรวจค้นในโรงงานที่ จ.นครศรีธรรมราช พบยาแก้ไอปลอมบรรจุขวดพร้อมจำหน่ายหลายยี่ห้อ รวมมากกว่า 60,000 ขวด ส่วนของจริงพบ 7,000 ขวด นอกจากนี้ยังพบขวดเปล่ารอการบรรจุอีกมากกว่า 400,000 ขวด

เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ต้องหา 3 คน เบื้องต้นให้การรับสารภาพ อ้างผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มต้นผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) ต่อมาประมาณต้นปี 2565 ได้เปลี่ยนมาผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ไก่แดง) แทน ส่วนยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ K-cough และยี่ห้อ A-chlordyl ผู้ต้องหาอ้างว่าซื้อมาจากบุคคลอื่น ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบขยายผล ขณะที่การค้นแหล่งจำหน่ายใน จ.ภูเก็ต พบยาแก้ไอ 11,400 ขวด ตรวจสอบแล้วเป็นของจริง

 

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาน้ำแก้ไอปลอมอาจทำให้ประชาชนที่ซื้อมาดื่มบรรเทาอาการ เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพราะบริโภคยาที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่สามารถรักษาโรคได้ ขณะที่ยาบางส่วนจำหน่ายให้กับกลุ่มบุคคลที่ต้องการไปใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชชกรเป็นผู้แนะนำ และสามารถตรวจสอบเลขทะเบียนยาได้ที่สายด่วน อย. 1556

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง