เมื่อ "Twitter" โกลาหล ทำไมชาวโซเชียลหนีไปเล่น "Mastodon"

Logo Thai PBS
เมื่อ "Twitter" โกลาหล ทำไมชาวโซเชียลหนีไปเล่น "Mastodon"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อ "Twitter" โกลาหล หลังมหาเศรษฐี "อีลอน มัสก์" กลายเป็นซีอีโอป้ายแดง ทำไมชาวโซเชียลถึงหันไปสมัครโซเชียลเน็ตเวิร์ก "Mastodon" จากเยอรมนี แล้วแอปพลิเคชันนี้ดีจริงหรือไม่ ไทยพีบีเอสออนไลน์มีคำตอบ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากอีลอน มัสก์ เข้าบริหารทวิตเตอร์ (Twitter) จำนวนผู้สมัครเข้าใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กขนาดเล็กที่ชื่อว่า "มาสโตดอน" (Mastodon) กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 

สำหรับแพลตฟอร์ม Twitter ที่ทรงอิทธิพลในโซเชียลกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว เน้นข้อความ การสนทนา และข่าวสารจำนวนมากแล้ว "Mastodon" อาจเรียกได้ว่ามา "เกาถูกที่คันบางจุด" ด้วยลักษณะการใช้งานที่คล้ายคลึงกันในการโชว์ไทม์ไลน์ อัปเดตข้อความสั้น ๆ จำกัด 500 ตัวอักษร อัปโหลดรูปภาพหรือวิดีโอได้เช่นเดียวกัน แต่มีจุดเด่นสำคัญ คือ การจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับเวลามากกว่าการใช้อัลกอริทึม และไม่มีโฆษณา แต่ผู้ใช้บางส่วนมองว่าการเล่น "Mastodon" ประสบการณ์ของผู้ใช้นั้นคล้ายกับการเล่น Discord​ ด้วย

"Mastodon" แตกต่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่าอย่าง Instagram Facebook หรือ Twitter คือ มีทั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานได้ฟรี หรือสนับสนุนเงินจากการระดมทุน และไม่มีโฆษณา โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการพัฒนาจากองค์กรไม่แสดงหากำไรในเยอรมนี

ผู้พัฒนา Mastodon ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า "Mastodon" มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 230,000 บัญชี ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. หลังจากที่อีลอน มัสก์ เข้าบริหาร Twitter โดยขณะนี้มีผู้ใช้งานรวม 655,000 บัญชีต่อเดือน ขณะที่ Ryan Wild จากเซิร์ฟเวอร์ MastodonApp.UK ใน "Mastodon" ระบุว่า มีผู้ใช้หน้าใหม่เข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์กว่า 6,000 บัญชีภายใน 24 ชั่วโมง จนต้องปิดการลงทะเบียนชั่วคราว

คนมีชื่อเสียงในแวดวงต่าง ๆ ทั้งวงการบันเทิง หรือนักวิชาการก็เริ่มใช้งาน "Mastodon" เพิ่มมากขึ้น สำนักข่าว​ CNN รายงานว่า นักวิชาการจาก UCLA Center for Critical Internet Inquiry ระบุว่า การย้ายไปใช้งาน "Mastodon" นั้นเกิดจากความกังวลว่า​ การดูแลเนื้อหาของ Twitter อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้การควบคุมของอีลอน มัสก์ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใช้ Twitter อาจเบื่อหน่ายกับการเก็บข้อมูลผู้ใช้และโฆษณาต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากในการใช้งาน "Mastodon" คือ การที่คุณต้องเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์เฉพาะเพื่อลงชื่อสมัครเข้าใช้งาน ซึ่งบางเซิร์ฟเวอร์เปิดให้ทุกคนเข้าได้ แต่บางเซิร์ฟเวอร์ต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น

อีกทั้งการค้นหาบุคคลที่ตัวเองรู้จักก็ทำได้ยาก และพบข้อจำกัดเรื่องการมองเห็นผู้ติดตามในแต่ละเซิร์ฟเวอร์ หรืออาจบอกได้ว่า การสื่อสารหรือโต้ตอบกับผู้คนจำนวนมากใน Twitter ทำได้อย่างง่ายดาย แต่ใน "Mastodon" นั้นกลับแตกต่างกันจนอาจทำให้รู้สึกว่าคุณเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในการใช้โซเชียล​ ทำให้แม้ว่าบางคนจะเลือกมาเล่น​"Mastodon" แต่ก็ยังไม่ปิดบัญชี​ Twitter

นอกจากนี้ สำนักข่าว​ BBC ยังรายงานว่า บัญชีของผู้ใช้​"Mastodon" จะหายไป หากเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ปิดให้บริการ ขณะที่กฎเกณฑ์ในการควบคุมดูแลการใช้งานแพลตฟอร์มจะขึ้นอยู่กับแต่ละเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งบางเซิร์ฟเวอร์ก็ไม่ได้มีการดูแลอย่างครอบคลุมทำให้อาจมีผู้ใช้งานที่เป็นบอทหรือมีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังจำนวนมาก 

สุดท้ายแล้ว​ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด​จะขา​ขึ้น​ หรือขาลง ผู้ใช้งานก็มีสิทธิ์เลือกสมัครและลงชื่อเข้าใช้ด้วยตนเอง​ ขณะที่ฝั่งแพลตฟอร์มเองก็สะท้อนให้เห็นว่า ต้องคำนึงถึงการใช้งานและความคิดเห็นของผู้ใช้​ และพร้​อมปรับเปลี่ยนลักษณะหรือกฎเกณฑ์การใช้งานอย่างเหมาะสม​ เพราะผู้ใช้พร้อมที่จะเลือกเสมอ​ และนี่อาจเป็นโอกาสทองให้แพลตฟอร์มใหม่​ ๆ​ ได้เติบโตด้วยเช่นกัน

ที่มา : BBC, CNN, The NewYork Times 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง