ป.ป.ท.ฟัน สสอ.จัดอบรมทิพย์โคราช สวมชื่อคนตาย 3 ปี มาเซ็นรับเงิน

สังคม
14 พ.ย. 65
16:38
764
Logo Thai PBS
ป.ป.ท.ฟัน สสอ.จัดอบรมทิพย์โคราช สวมชื่อคนตาย 3 ปี มาเซ็นรับเงิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดเบื้องหลังทุจริตงบป้องกันโรค 32 อำเภอ ในจ.นครราชสีมา ป.ป.ท.ฟัน สสอ.เบิก-จ่าย-อบรมทิพย์โครงการเดียวฟัน 3 ล้านบาท ชาวบ้านโวยถูกปลอมลายเซ็น
มันไม่ใช่ลายมือเรา เราสบายใจส่วนหนึ่ง แต่เสียความรู้สึกว่า ทำไมเขาต้องปลอมลายชื่อเรา ทำให้เดือดร้อน นอนไม่หลับ เดือดร้อนกระวนกระวาย เราเป็น อสม.มา 20 กว่าปี ครั้งแรกในชีวิตที่เจอ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาทำไปเพื่ออะไร

เจ้าหน้าที่ อสม.ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกปลอมลายเซ็น ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.)

หลังทราบว่า ถูกปลอมชื่อและลายเซ็น เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันโรคให้กับประชาชน ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ แม่ค้าคนหนึ่งที่บอกว่า ไม่มีใบเสร็จรับเงิน แต่มีเพียงแบบฟอร์มให้กรอกและลงชื่อ หรือเรียกว่าใบสำคัญรับเงิน ให้เซ็นรับ เขาก็จ่ายเงินสดมาให้ เราไม่เคยออกใบเสร็จรับเงินสดให้ สสอ.แต่มีรายชื่อเซ็นรับเงิน

ส่วนหนึ่งจากคำให้การของผู้เสียหาย จำนวนกว่าพันคนจาก 32 อำเภอ ในพื้น จ.นครราชสีมา ซึ่ง ป.ป.ท.ตรวจสอบพบว่า มีผู้ถูกสวมรายชื่อ และปลอมลายเซ็นต์เบิกรับเงิน โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันโรคให้กับประชาชนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวนกว่า 3 ล้านบาท


พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 บอกว่า ขณะนี้การตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว พบว่ามีการทุจริตเกือบทั้งหมด แม้บางพื้นที่จะพยายามล็อบบี้ชาวบ้าน

สสอ.ให้มายืนยันว่า ได้เข้ารับการอบรมจริง และเป็นเจ้าของลายเซ็นจริง แต่ก็ขัดกับพยานหลักฐานที่มี โดยเฉพาะลายเซ็นที่เป็นหลักฐานสำคัญ

นอกจากนี้จากการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้เข้าร่วมอบรม เจ้าของสถานที่ และผู้ที่มีรายชื่อเซ็นรับเงิน พบว่า มีการเบิกจ่ายงบประมาณใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ผู้มีรายชื่อเป็นผู้จัดทำอาหาร และเบิกค่าอาหารตามเอกสารการเบิกจ่าย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดทำอาหารและเบิกค่าอาหาร

2.ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารและเข้าร่วมโครงการตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่ปรากฏในโครงการ

3.สถานที่จัดงาน ซึ่งส่วนใหญ่ระบุเป็นสถานที่ราชการ เจ้าของสถานที่ระบุว่า ไม่มีการจัดโครงการจริง และไม่ปรากฏหนังสือราชการ ถึงเจ้าของสถานที่ เพื่อขอใช้สถานที่ในการจัดโครงการ

และไม่ปรากฏหนังสือราชการถึงเจ้าของสถานที่ เพื่อขอใช้สถานที่ในการจัดโครงการด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญ คือ มีการนำรายชื่อผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3 ปี เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ, ผู้มีชื่อเข้าร่วมโครงการบางราย มีชื่อและนามสกุล ไม่ตรงกับชื่อสกุลจริง, บัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ อาจเป็นการลงลายมือชื่อโดยบุคคลคนเดียวกัน และไม่ปรากฏภาพถ่ายในการจัดโครงการฯ

พ.ต.ท.สิริพงษ์ บอกว่า คดีนี้ตามแผนประทุษกรรมดูเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เข้าถึง ทร.14 ของกรมการปกครอง จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า จำนวนรายชื่อกว่า 1,000 คน ที่ถูกปลอมลายเซ็นนั้น มีใครตายแล้วบ้าง

เป็นเรื่องของการดำเนินการฝายเดียวของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งวงเงินทุจริตมันดูน้อยมาก หากเทียบกับการทุจริตโครงการพันล้านบาท

แต่เรื่องนี้ในความไม่มีอะไร มันมี เหมือนการแปรอักษร ถ้าคนยกป้าย 2 ป้ายขึ้นมาเราจะดูไม่ออก แต่ถ้ายกป้ายขึ้นมาพร้อมๆ กันมันจะเห็นภาพรวมทั้งหมด

เช่นเดียวกับการทุจริตกรณีนี้ นี่แค่ 32 อำเภอ ในจังหวัดเดียว และหากเราตรวจทั้งภาค หรือให้ครบทั้งประเทศ ก็จะ GO SO BIG เพราะการทุจริตลักษณะนี้ คนรู้ก็คือ คนใน

พบเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวทุกขั้นตอน

ผอ.ปราบปรามการทุจริตฯ เปิดเผยเบื้องหลังการตรวจสอบทุจริตในโครงการฯ ดังกล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องเรียน ป.ป.ท พบว่า สาธารณสุขอำเภอได้รับการจัดสรรงบประมาณ จัดอบรมให้ความรู้ชาวบ้านในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยโครงการจัดงบประมาณให้ตามความใหญ่ของแต่ละอำเภอ จะมีไซส์ XL, L และ M ตามจำนวนประชากร

หากเป็นอำเภอขนาดใหญ่จะได้งบจำนวน 150,000 บาท ขนาดกลาง 120,000 บาท และขนาดเล็ก 100,000 บาท โดยใช้พื้นที่ อ.ด่านขุนทดเป็นพิมพ์เขียวในการตรวจสอบพบว่า

เฉพาะที่นี่แห่งเดียวมีการจัดอบรมโครงการต่างๆ ถึง 7 โครงการและได้ขยายผลจนพบว่า มีการทุจริตทั้งหมด จากการไต่สวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับสาธารณสุขอำเภอ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ระดับล่าง

ขั้นตอนต่อไปหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแสร็จสิ้น ป.ป.ท.จะส่งสำนวนคดีให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ดำเนินการ ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของ ป.ป.ช.ว่า จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอง หรือส่งกลับมาให้ ป.ป.ท.ไต่สวน และครั้งนี้เป็นการตรวจสอบการใช้ย้อนหลังในปีงบประมาณปี 2562 เท่านั้น

พ.ต.ท.สิริพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้งบประมาณในปี 2563 และปี 2564 ยังไม่ได้ตรวจสอบ และเชื่อว่า หากมีการตรวจตรวจสอบตามขั้นตอนที่ป.ป.ท.วางไว้ จะเห็นภาพปัญหาการทุจริตอย่างมโหฬาร และไม่ว่าจะแตะตรงไหนก็พบ โดยเฉพาะเหตุที่เกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา แค่โครงการเดียวเท่านั้น และพบว่ามีปัญหาหมดทุกจุด

ลงทุนกระดาษ 140 แผ่น ได้เงิน 1.5 แสน

ถือเป็นการทุจริตที่น่าสนใจ เขาลงทุนแค่กระดาษ 140 แผ่น แล้วนั่งปลอมลายเซ็นได้เงินไป 150,000 บาท โดยชาวบ้านไม่มีสิทธิ์รู้ 

เพราะชาวบ้านด้อยโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ทราบว่ามีใครเอาชื่อเขาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร เขาอาศัยยอดเพื่อต้องการเบิกจ่ายงบประมาณ กรณีที่เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่อาจมองไม่ออก ปัญหาไม่เตะตา เพราะวงเงินน้อย

ขณะที่ภาคประชาสังคม และประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจตรวจสอบงบจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูลมูลค่าหลายพัน หลายหมื่นล้าน สุดท้ายเอาผิดไม่ได้

ส่วนปัญหาทุจริตที่ ป.ป.ท. กำลังตรวจสอบเป็นข้อมูลลับไม่ถูกเผยแพร่ เพราะการทุจริตลักษณะนี้ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ทราบ

นอกจากจัดอบรมทิพย์ ปลอมลายเซ็นชาวบ้านแล้ว การนำชื่อผู้เสียชีวิตไปแล้ว3 ปี มาเข้ารับการอบรมพร้อมลายเซ็น นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับการทุจริตในโครงการเดียว แต่หากตรวจสอบลงลึกไปกว่านั้น ทั้งระบบทุกภาคทั่วประเทศ คงได้เห็นข้อเท็จจริงว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง