เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ "อเมริกา" เข้าร่วมการประชุมเวทีโลก

ต่างประเทศ
18 พ.ย. 65
13:02
330
Logo Thai PBS
เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ "อเมริกา" เข้าร่วมการประชุมเวทีโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมระดับนานาชาตินั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าไฮไลท์จะอยู่ที่การปรากฏตัวของผู้นำแต่ละประเทศ ยิ่งเป็น "บิ๊กเนม" ก็ยิ่งเรียกความน่าเชื่อถือให้ประเทศเจ้าภาพได้มากขึ้น ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์ให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การมาของ "โจ ไบเดน" ใช้เงื่อนไขอะไรบ้าง

เรียกว่าเป็นประเด็นหลักของโลกไปแล้วสำหรับ "รัสเซีย-ยูเครน" ที่ไม่ว่าการประชุมเวทีใดก็ตามในโลก จะต้องหยิบยกเรื่องนี้เข้าที่ประชุมด้วย

แม้ว่านานาชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตียูเครนของรัสเซียจะพากันออกมาประณามการกระทำครั้งนี้ และเรียกว่า "สงคราม" 

แต่ก็ยังมีอีกหลายชาติเช่นกันที่เลี่ยงจะใช้คำๆ นี้ และใช้คำว่า "ความขัดแย้ง" แทน 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ วิเคราะห์ถึง 3 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ "สหรัฐอเมริกา" เลือกที่จะเข้าร่วมประชุมในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40-41 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา และเวทีการประชุมกลุ่ม G20 ประจำปี 2565 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ที่ส่วนใหญ่นั้นจะต้องเน้นไปที่ การพูดถึงปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน 

1. การกดดันจากสหรัฐฯและพันธมิตรที่เข้าข้างยูเครน

เห็นได้จากทั้ง 2 เวทีการประชุมในกัมพูชาและอินโดนีเซีย ที่ทั้ง 2 เจ้าภาพเลือกที่จะเชิญ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ปธน.ยูเครนให้มีส่วนร่วมในการประชุมด้วย 

ในเวทีอาเซียน สมเด็จฮุน เซน ได้ส่งคำเชิญให้ เซเลนสกี เข้าร่วมประชุมอาเซียนผ่านทางออนไลน์ แต่ถึงแม้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ จึงทำให้ เซเลนสกี ไม่สามารถร่วมประชุมได้นั้น แต่ในเวทีนี้ สมเด็จฮุน เซน ในประธานอาเซียนก็ได้แสดงเจตน์จำนงที่ก้าวออกมาผลักดันมติประณามรัสเซียตามการร้องขอของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก 

อนึ่ง กลุ่มสมาชิกอาเซียน จะบรรลุข้อตกลงอะไรได้บ้างนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบเหมือนกันทั้ง 10 ประเทศเท่านั้น

ส่วนในเวที G20 ปธน.โจโก วิโดโด เคยบินไปเชิญ เซเลนสกี ที่ยูเครน และ ปูติน ที่รัสเซีย ให้เข้าร่วมการประชุม G20 ด้วยตัวเองมาแล้ว ถือว่าเป็นการเดินเกมทางการทูตเชิงรุก ที่ "โจโกวี" ได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงศักยภาพของอินโดนีเซีย ที่มีความสนใจและพยายามเรียกร้องหาทางเจรจาเพื่อยุติปัญหา รัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานร่วม 9 เดือน

2. เรื่องร้อนที่ทุกเวทีต้องมี

ดร.ปณิธาน เปรียบเทียบว่า ถ้าในเมืองไทยตอนนี้ เรื่องร้อนๆ ที่ต้องพูดถึงก็คงไม่พ้น "ชูวิทย์-สันทนะ" เฉกเช่นเดียวกับเรื่องร้อนระดับโลก รัสเซีย-ยูเครน ที่ต้องมีอยู่ในทุกวงการประชุม 

และยิ่งเป็นเรื่องที่ สหรัฐและชาติตะวันตก เห็นเป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลกระทบในทุกด้านทั่วโลก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก วิกฤตพลังงาน การเดินทางระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์เชิงทูต รวมถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจึงมีความเห็นว่า ในการประชุมทุกเวทีนั้น ต้องมีการหยิบยกเรื่อง รัสเซีย-ยูเครน เข้ามาพูดในที่ประชุม

3. ความเห็นอกเห็นใจ

ทั้งกัมพูชาและอินโดนีเซียเอง เคยผ่านช่วงเวลาเลวร้ายจากจากถูกรุกรานโดยประเทศอื่นมาแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าใจและเห็นใจ "ยูเครน" ในขณะนี้ ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกับทั้ง 2 ชาติในอดีตมาก่อน

ในขณะที่ยูเครนเองก็พยายามเดินสายขอเข้าร่วมในทุกเวทีทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการสนับสนุนให้ได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ในการประชุมเวที G20 แม้ เซเลนสกี จะไม่ได้มาร่วมการประชุมด้วยตัวเอง แต่เขาก็เรียกร้องผ่านทางออนไลน์ ให้ทั่วโลกให้ความช่วยเหลือยูเครนให้มากขึ้น และขอให้ร่วมกันประณามรัสเซีย โดยในเวที G20 เซเลนสกี เลือกที่จะพูดว่า  

ถึงทุกท่านในการประชุม G19 ยูเครนจะไม่มีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้นในสงครามครั้งนี้ สงครามจะหยุดได้ต้องขึ้นอยู่กับรัสเซียเท่านั้น

และในวันที่ เซเลนสกี ได้พูดในเวที G20 ก็เป็นวันเดียวกันกับที่ สี จิ้นผิง ปธน.จีน ได้คุยกับ เอมานูว์แอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส ให้ช่วยเดินหน้าเจรจาในเรื่องรัสเซีย-ยูเครนต่อไป 

แม้ว่าทั้ง 2 เวทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทั้งในกัมพูชาและอินโดนีเซีย จะไม่มีทั้ง ปธน.ปูติน และ ปธน.เซเลนสกี มาร่วมงานได้จริง แต่ก็ถือว่าทั้ง 2 ประเทศได้แสดงศักยภาพในเรื่องนี้ได้มากพอ และทำให้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรได้เห็นถึงความพยายามแล้ว  

ที่มา : BBC, CNN, Politico

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง