เล่า "ไตรภูมิ" มุมใหม่บนรากเดิมกับ "Creatures of Triloga"

Logo Thai PBS
เล่า "ไตรภูมิ" มุมใหม่บนรากเดิมกับ "Creatures of Triloga"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"Creatures of Triloga" เล่า "ไตรภูมิ" มุมใหม่บนรากเดิมกับ "ไตรโลกา" ท่องจักรวาลสิ่งมีชีวิตชื่อคุ้นทั้งราชสีห์ - ครุฑ - ยักษ์ ด้วยรูปร่างแปลกตา กับแนวคิดไร้กรอบจำกัดของ "ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร" ที่เชื่อว่าการนำของเก่ามาเล่าใหม่ คือ การรักษาที่แท้จริง
เรามันเขี้ยวสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ อย่าไปแตะเลยมันจะดรามา ของสูง ของโบราณ รักษาไว้ แต่เราไม่เข้าใจคำว่ารักษา รักษาของเราคือการเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่การเก็บไว้นิ่ง ๆ แล้วรอวันผุ จนไม่มีคุณค่า

คำบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ "Creatures of Triloga" จาก "ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร" ดึงดูดให้ไทยพีบีเอสออนไลน์หลุดเข้าไปจักรวาลไตรโลกาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทุกก้าวย่างที่เดินไปทำความรู้จักกับสัตว์โบราณที่มีชื่อแสนคุ้นเคย แต่ถูกประกอบสร้างผ่านมุมมองใหม่จนทำให้รูปร่างดูแปลกตาและน่าค้นหา

"ฮ่องเต้–กนต์ธร" แนะนำ "ราชสีห์" ที่ไม่เหมือนสิงโต แบ่งเป็น 4 ตระกูล มีทั้งต้นตระกูลของฮิปโป เสือดาว หมา และช้าง ที่ตีความจากคำว่า ราช คือ ราชา และสิงหะ คือ สัตว์ร้าย ประกอบกับความรู้สึกถึงความเป็นต้นขั้วของสัตว์ที่ยังไม่ถูกพัฒนาจนถึงจุดที่นิ่งของยุคนี้

ลักษณะที่เขียนอยู่ในไตรภูมิไม่มีตัวไหนที่เข้าเค้าสิงโตเลย ตัวสีขาว ตัวสีแดง สีเขียว เล็บสีแดง มีเขี้ยว เท้าเป็นกีบ ตัวเท่าแบ็กโฮ 

ขยับไปไม่ไกล มี "ครุฑ" สเกลใหญ่เท่าตัวจริง ตั้งตระหง่านอยู่กลางนิทรรศการ ส่งรังสีน่าเกรงขามให้ผู้คน ซึ่งสร้างสรรค์จากข้อมูลประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์หล่อหลอมขึ้นเป็นฟอสซิลให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจน กับมุมมองที่ว่า "พูดถึงครุฑ เรามองเห็นนกที่มีแขน เหมือนแร็พเตอร์ที่พัฒนามือจนกลายมาเป็นปีก" 

ส่วนยักษ์ยืนบึกบึนอวดกล้ามแน่น ๆ อยู่อีกมุมของงานนิทรรศการ พร้อมด้วยกระบองใหญ่ อาวุธสำหรับวางหน้าเมือง เป็นกุศโลบายขู่ขวัญศัตรู

ยักษ์ก็ไม่รู้สึกว่าต้องเป็นลายกนก เหมือนเราเห็นนักกล้าม คิดว่าคนที่บูชากำลัง ความสามารถและร่างกายตัวเองขนาดนั้น จะไม่ชอบใส่เสื้อ มันจึงสนุกกว่าที่จะปลดเปลื้องพัสตราภรณ์เหล่านั้นออกไป หรือนำมาทำเป็นสิ่งใหม่

สัตว์ในไตรโลกา อยู่ใน Setting ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งภายในงานมีจัดแสดงแผนที่มหาทวีปของไตรโลกา ประกอบด้วยที่ราบสูง ที่ราบแล้ง ทะเลทราย สันเขาตรงกลางเป็นเหมือนสวรรค์หรือไตรตรึงษ์ ดาวดึงส์ หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าดิบ ภูเขาหิมะ ป่าติดทะเล ชายทะเล และหมู่เกาะลงกาให้เห็นความสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของจักรวาลแห่งนี้

งานไตรโลกาเกิดขึ้นจากทีมงานนักสร้างสรรค์ 20 คน ที่มารวมตัวกันระดมความคิดและกำลัง ผสมผสานวิทยาศาสตร์ ปรัชญา โบราณคดี ประเพณี โดยมีเชื้อไฟจากแนวคิดของ "ฮ่องเต้–กนต์ธร" ผู้ที่มีฮีโร่เป็นตัวละครในวรรณกรรมรามเกียรติ์

นิทานก่อนนอนเรา คือ รามเกียรติร์ เพราะฉะนั้นฮีโร่เราไม่ใช่เซ็นไต ไม่ใช่เซเลอร์มูน หรือมาเวล แต่ฮีโร่เราคือ พาลี สุครีพ ชอบลิงแดงตัวใหญ่ ๆ เท่มาก เราโตมากับรามเกียรติ์จริง ๆ

"ฮ่องเต้–กนต์ธร" บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "Creatures of Triloga" ใช้เวลาทำประมาณ 3 ปี แต่ตัวเขาอยู่กับคอนเซ็ปต์ไตรโลกามานานถึง 10 ปี แก้ไขมาแล้ว 2 ครั้งใหญ่ เพราะมุมมองต่อมนุษย์ ความเชื่อ การเมืองการปกครองนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่จุดมุ่งหมายของศิลปินคนนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ความคิดไร้กรอบจำกัด นำของเก่ามาเล่าใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกลบเลือนหายไปหรือกลายเป็นของผุจนไม่มีคุณค่า "ฮ่องเต้–กนต์ธร" หยิบยกคาแรกเตอร์จากไตรภูมิที่ผู้คนพูดถึงกันมานานหลายสิบปีตั้งแต่เขาเกิด แต่ไม่เคยมีใครขยับหรือทำอะไร 

เวลาอาจารย์เอาผังไตรภูมิมาให้ทำ เด็กก็ทำได้แค่ Illustrator ใหม่ ไม่ได้มีใครเอาออกมานอกกรอบ เราเลยคิดว่าเดี๋ยวทำเอง แล้วสร้างจักรวาลให้มีมุมมองเหมือนเล่นเกม RPG ไม่ใช่สวรรค์ นรก โลกมนุษย์ที่มีแท่งหิน มีวิมารอยู่ข้างบน

"เคปเลอร์เจอวงโคจร ไอแซก นิวตันเจอแรงโน้มถ่วง คนขุดค้นเจอของโบราณ เราเจอสัตว์สปีชีส์ใหม่ ๆ ทุกวัน" ฮ่องเต้ - กนต์ธร บอกเล่าความมหัศจรรย์ของโลก กับการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ไม่เจออาจจะไม่ได้หมายความว่าไม่มี หรือไม่ใช่แบบนี้ ดังนั้น ไม่มีใครจะบอกได้ว่าจักรวาลเล็กเท่านี้ หรือหน้าตาแบบไหน 

เราไม่ได้บอกว่า สิ่งนี้ถูกต้อง เราเขียนไว้ว่า ผู้รจนาเรื่องนี้เป็นผู้เยาว์ที่ไม่สามารถกล่าวอ้างได้เลยว่า ไปประสบพบเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง แต่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลแล้วเอามาถอดความให้ชัดเจนตามความเข้าใจของเราเท่านั้น นี่คือ ไตรโลกา

ทีมศิลปินผู้สร้างจักรวาลนี้ พยายามสื่อสารนิทรรศการให้ง่ายที่สุด จากการจับจุดชื่อสัตว์ที่คุ้นเคยทั้งราชสีห์ ครุฑ ยักษ์ โดยได้รับข้อมูลจากหนังสือทุกเล่มที่อ่าน และผลงานจากไอดอลทั้งคนไทยและต่างชาติ อย่าง สมเด็จครู หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ที่เป็นต้นดีไซน์ของไทย เป็นคนที่กล้าเอาของเก่ามารื้อสร้าง หรือ J.R.R.Tolkien ที่ประพันธ์ The Lord of the Rings ซึ่งใช้วรรณกรรมสะท้อนแนวคิดและวัฒนธรรมผ่านภาษา และตัวละครที่นำมาตีความใหม่

แม้จะมีไอดอลหลายคน แต่คนที่ทำให้เกิดไตรโลกาขึ้นมา คือ คุณตาของฮ่องเต้ - กนต์ธร ที่เล่ารามเกียรติ์ให้ฟังตั้งแต่เด็ก ๆ จนสร้างนิสัยรักการอ่าน และทำให้หลงใหลไปกับเนื้อหาของสามก๊ก ราชาธิราช หรือไซอิ๋ว ดังนั้น ไตรโลกาที่ถูกสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ ยังมีสายใยเชื่อมโยงกับคนยุคพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายอยู่ด้วยเช่นกัน

ทุกครั้งที่เราทำงานอยู่กับเรื่องความเชื่อ จะมีคนแก่ดีใจ แล้วรู้สึกว่าเราทำให้ลูกหลานเขาสนใจเรื่องพวกนี้ และงานนี้จะทำให้คนนึกถึงของเก่า เพราะเราตั้งชื่อเดิม คนจะได้กลับไปดูว่าหน้าตาเดิมเป็นอย่างไร เราจึงไม่กลัวว่าการทำของใหม่ ของเก่าจะหายไป เพราะสุดท้ายทุกอย่างจะเป็นไปตามกาลเวลา

ฮ่องเต้ - กนต์ธร บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์เมื่อเดินมาถึงจุดสุดท้ายของนิทรรศการว่า การทำนิทรรศการนี้นอกจากทุ่มกำลังและทุนของตัวเองเพื่อให้มีผลงานออกมาให้ทุกคนได้ชมกัน พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ขัดเกลาความคิดและฝีมือเพื่อพัฒนาศักยภาพ ซึ่งแต่ละคนนั้น "ไม่ธรรมดา" เพราะเพียงแค่เติมน้ำมันเล็กน้อย น้อง ๆ ในทีมก็พร้อมทดลองปรุงจนกลายเป็นอาหารเลิศรสพร้อมเสิร์ฟขึ้นโต๊ะอาหาร 

บางคนบอกขอลองบีบมะนาวได้ไหม เราบอกลองดิ ไม่เวิร์ก ไม่เป็นไร เราล้างกระทะใหม่บ่อย แต่เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่า นี่ต่างหากคือกระบวนการที่จะทำให้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้จริง

สุดท้าย ความฝันของผู้ชายคนนี้ คือ การผลักดันงานฝีมือคนไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลก เหมือนกับ  Peter Robert Jackson ที่ดันหมูนิวซีแลนด์เป็นพาหนะให้คนแคระขี่ใน The Hobbit เขาคนนี้มีจุดยืนเช่นนั้น และเชื่อมั่นว่า ยักษ์ไทยจะไปยืนบนเวทีโลกได้ ครุฑไทยจะได้ไปผงาดเหมือนมังกร Game Of Thrones เพราะคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก

อนาคตของไตรโลกาไม่ได้หยุดเพียงนิทรรศการเท่านั้น แต่เริ่มขยับไปเป็นเกมในโลก Metaverse ที่ชื่อว่า The Quests of Triloga ให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ในจักรวาลโลกเสมือนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีเวทีเสวนาถึง 4 ครั้ง และยังมีนิยายที่ร้อยเรียงเรื่องราวให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจไตรโลกาผ่านตัวหนังสือด้วย

สำหรับคนต่างจังหวัดทีมศิลปินได้พูดคุยกับ TCDC และมหาวิทยาลัย เพื่อจัดทัวร์ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยความเป็นอารยธรรมของภูมิภาคนี้ จึงเชื่อว่าทุกคนในพื้นที่จะเข้าถึงได้ไม่ยาก แต่สำหรับชาวกรุงเทพฯ สามารถเข้าชมนิทรรศการไตรโลกา "Creatures of Triloga"  ได้ที่อาคาร TCDC ย่านเจริญกรุงทุกวันจนถึงวันที่ 20 พ.ย.นี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง