ชงออกประกาศ ศธ.แยก "ประวัติศาสตร์" คิดหน่วยกิตเฉพาะ

สังคม
23 พ.ย. 65
18:40
568
Logo Thai PBS
ชงออกประกาศ ศธ.แยก "ประวัติศาสตร์" คิดหน่วยกิตเฉพาะ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตรีนุช” จ่อออกประกาศ ศธ.แยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์อีก 1 รายวิชาคิดหน่วยกิตเฉพาะ เตรียมเสนอบอร์ด กพฐ.พิจารณา 28 พ.ย.นี้ เปิดโครงสร้างหลักสูตรเรียน 40 ชั่วโมงต่อปีระดับประถม-มัธยมต้น

วันนี้ (23 พ.ย.2565) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิ การ (ศธ.) พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ 

ที่ผ่านมา ศธ.ได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน

เพื่อให้มีการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) วันที่ 28 พ.ย.นี้

 

ทั้งนี้เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เปิดร่างประกาศ ศธ.เรียนพื้นฐานประวัติศาสตร์

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ในร่างประกาศ ศธ.ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตร สถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา

โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)

ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์ เป็นสื่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ บูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น การศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 

หากบอร์ด กพฐ.เห็นชอบ และผ่านการลงนามในประกาศ ศธ.การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน คือจะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ และ ปพ.3 จะแสดงผลการเรียนแยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

เรียนรู้ผ่านแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ในปีงบประมาณ 2566 นอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนการสอนแนวใหม่ สร้างการรับรู้ เน้นย้ำความสำคัญ

โดยจะออกเป็นประกาศ ศธ.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังวางระบบสนับสนุนอย่างเหมาะสมให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การจัดกลุ่มตัวชี้วัดสาระประวัติศาสตร์และสาระหน้าที่พลเมือง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของตัวชี้วัด การส่งเสริมประสิทธิภาพจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนนําองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ไปต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง