"หอมน้อยกว่า" ข้าวไทยพ่ายข้าวกัมพูชา

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 65
19:55
496
Logo Thai PBS
"หอมน้อยกว่า" ข้าวไทยพ่ายข้าวกัมพูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากการจัดประชุมข้าวโลกที่ภูเก็ตเมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ข้าวผกาลำดวนเฉือนชนะข้าวไทยไป 1 คะแนนจากความหอมที่มีมากกว่า เรื่องนี้ทำให้ผู้ส่งออกข้าว-นักวิชาการประเมินว่า นี่คือสัญญาณเตือนที่ต้องเร่งยกระดับคุณภาพข้าวและพัฒนาพันธุ์ข้าว

ข้าวหอมมะลิไทย ถือว่าเป็นสินค้าเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ข้าวที่ดีที่สุดในโลก" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ไทยได้รางวัลแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากการประกวดหลายครั้ง ยิ่งช่วยการันตีว่า ข้าวไทยเป็นข้าวมีคุณภาพ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้นำเข้าข้าว

แต่ในปีนี้ เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในการจัดประชุมข้าวโลกซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต "ข้าวไทย" ไม่สามารถรักษาแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกไว้ได้ หลังครองแชมป์ติดต่อกันมา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2020 โดยแพ้ข้าวผกาลำดวนจากกัมพูชาไปเพียง 1 คะแนน ด้วยเหตุผล ความหอมที่มีน้อยกว่า ขณะที่ผู้ส่งออกข้าว-นักวิชาการประเมินว่า นี่คือสัญญาณเตือนที่ต้องเร่งยกระดับคุณภาพข้าวและพัฒนาพันธุ์ข้าว

เฟซบุ๊ก “World's best rice” เผยแพร่ภาพรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกปีนี้ (The World’s Best Rice 2022) ตกเป็นของข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน (Phka Rumduol) จากกัมพูชา จากงานประชุมข้าวโลกครั้งที่ 14 ประจำปี 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตระหว่าง 14-17 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยชนะข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยไปอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องมา 2 ปีนับตั้งแต่ปี 2020 และ 2021

ในงานนี้มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ไปร่วมประชุม รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวของไทย นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ระบุว่า

สาเหตุที่ข้าวไทยแพ้ข้าวผกาลำดวนจากกัมพูชามาจากความหอมของข้าวไทยที่มีน้อยกว่า โดยกัมพูชาชนะไปเพียง 1 คะแนน ทำให้ข้าวไทยได้คะแนนเป็นอันดับสอง ส่วนอันดับ 3 คือ เวียดนาม และอันดับ 4 คือลาว

เกณฑ์ในการให้คะแนน

คณะกรรมการจะพิจารณาลักษณะทางกายภาพของข้าวร้อยละ 50 และการหุงอีกร้อยละ 50 โดยการประกวดครั้งนี้ มีสายพันธุ์ข้าวจาก 9 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน จีน และ สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประกวด

ถึงแพ้แต่ไม่กระทบ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ยังระบุด้วยว่า แม้ข้าวไทยจะแพ้ข้าวกัมพูชาในการประกวดครั้งนี้ แต่เชื่อว่าระยะสั้นยังไม่กระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่ยังได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา

แต่ระยะยาวหากไทยไม่ดำเนินการยกระดับคุณภาพข้าวและให้ความสนใจกับการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว ไทยอาจเสียตลาดส่งออกข้าวหอมได้ เพราะข้าวจากประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ ได้ประมาณ 1.4-1.5 ล้านตัน ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 720-750 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน สูงกว่ากัมพูชา 15-20 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

พานิชย์ย้ำไม่ส่งผลกระทบส่งออก

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แม้ปีนี้ไทยจะไม่ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกแต่หากเทียบในช่วงประกวด 13 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยนั้นได้รางวัลที่ 1 ไปถึง 7 ครั้ง และการแพ้ข้าวผกาลำดวนจากกัมพูชาเป็นการแพ้แบบเฉียดฉิว และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน ส่วนปีหน้าคาดว่าจะส่งออกได้ 8 ล้านตัน

ทั้งนี้ไทยได้มีจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2020-2024 เน้นความเป็นผู้นำด้านการผลิตด้าน การตลาดและด้านผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพของโลก โดยมีการกำหนดเป้าหมายแต่ละด้านชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี จะเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ ซึ่งในปีนี้ มีพันธุ์ข้าวใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้ว 6 พันธุ์ และคาดว่าภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะมีข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 12 สายพันธุ์ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการตลาด

ข้อมูลจากการประชุมข้าวโลกตั้งแต่ปี 2009-2022 พบว่า ไทยนั้นได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 7 ครั้ง สำหรับพันธุ์ข้าวหอมผกาลำดวนกัมพูชาได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมข้าวโลก

สาเหตุหอมมะลิไทยหอมน้อยลง

ทางด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า ขณะนี้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยมีความหอมน้อยลง มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากเรื่องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีน้ำมากเกินไป พันธุ์ข้าวที่อาจเกิดการปลอมปนจากการใช้รถเกี่ยว การเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรไว้ปลูกต่อ ความเอาใจใส่ดูแลของเกษตรกรน้อยลงจากนโยบายประกันรายได้ทำและการนำข้าวหอมมะลิไปปลูกนอกพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกเดิมเพื่อหวังส่วนต่าง

และเห็นว่าเกษตรกรไทยควรหันมาใส่ใจการผลิตข้าวให้มากขึ้น ขณะที่หน่วยงานของรัฐต้องหาแนวทางในการดูแลเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ เกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้แทนการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด

รู้จัก "ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน"

สำหรับข้าวหอมมะลิผกาลำดวนเป็นข้าวเมล็ดยาวพันธุ์หนึ่งที่กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่ส่งออกภายใต้เครื่องหมายรับรอง อังกอร์ มะลิ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรของกัมพูชาได้แจกจ่ายพันธุ์นี้ให้เกษตรกรใช้ปลูกในปี 2542 หลังจากพัฒนาและทดลองมา 10 ปี

ข้อมูลจาก กองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวของกัมพูชา ปี 2565 คาดว่า กัมพูชาจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 7 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปริมาณคาดการณ์การส่งออกข้าวในปี 2564 โดยตลาดสำคัญในปี 2565 จะเป็นสหภาพยุโรปและจีน

ตั้งแต่ เดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 กัมพูชาส่งออกข้าว 283,675 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.73 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีปริมาณ 233,031 ตัน โดยข้าวหอมส่งออกมากที่สุด ปริมาณ 181,836 รองลงมาเป็นข้าวขาวปริมาณ 93,896 ตัน และข้าวนึ่งปริมาณ 3,971 ตัน โดยมีการส่งออกข้าวไปยัง 10 ประเทศ ตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน ฮ่องกง และมาเก๊า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง