หยุดสร้าง อย่าหนี เพราะ “หนี้” เป็น “มรดก”

สังคม
24 พ.ย. 65
14:06
10,912
Logo Thai PBS
หยุดสร้าง อย่าหนี เพราะ “หนี้” เป็น “มรดก”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่ "หนี้" คือ "มรดก" ตกทอดสู่ทายาท ที่ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการเสียชีวิตของผู้ก่อ แต่ทั้งนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับ เมื่อเสียชีวิตไม่อยากให้ลูกหลานรับภาระแทน ตอนมีชีวิตอยู่ไม่สร้างหนี้ แต่หากจำเป็นต้องมีหนี้ควรจัดสรรปันส่วนให้ดี

ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน การใช้จ่ายต้องมีความระมัดระวัง การใช้จ่ายจนเกินตัว ต้องไปเป็นหนี้เป็นสิน ปัญหาเรื่องหนี้สิน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่ความเครียด จนบางรายแบกรับภาระหนี้สินไม่ไหวหาทางออกด้วยการฆ่าตัว ตามที่เป็นข่าวโดยทั่วไป หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตตามธรรมชาติเองก็ตาม

แต่รู้หรือไม่หนี้สินที่ก่อไว้ไม่ได้หมดลงไปด้วย ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้รู้ว่าใครบ้างที่ต้องรับหน้าที่ชำระหนี้สินนั้นต่อ และเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องหนี้สินที่ยังเหลือนั้นได้หรือไม่ อย่างไร

มรดกคืออะไร

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า กองมรดก ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดต่าง ๆ

นั่นหมายความว่า เมื่อบุคคลผู้เป็นเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมรดกของบุคคลนั้น จะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิด รวมไปถึงความรับผิดชอบในการชำระหนี้ของผู้ตายด้วย

ซึ่งสรุปได้ว่า "หนี้" ถือว่าเป็น "มรดก" แม้เจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่ได้ระงับไป การชำระหนี้ยังคงมีอยู่ ซึ่งภาระจะตกแก่ทายาทผู้ที่ได้รับมรดก

ทายาทคือใคร

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม คือ ผู้รับพินัยกรรม โดยสิทธิของผู้รับพินัยกรรมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ก่อนตาย เจ้ามรดกได้แสดงเจตนากำหนดไว้ในพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ไม่ว่าจะทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน
2.ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย คือ ทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ได้บัญญัติไว้ว่า ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย โดยมีลำดับชั้นเท่ากับผู้สืบสันดาน

ดังนั้น เมื่อได้รับมรดกมา ก็ต้องรับภาระหนี้สินผู้ตายผู้เป็นเจ้ามรดกมาด้วย

ทายาทต้องชำระหนี้เท่าไหร่

ตามมาตรา 1601 บัญญัติไว้ว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน

หมายความว่า กรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินไว้ก่อนตาย มากกว่าทรัพย์มรดก ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้ามรดกมีหนี้สินก่อนเสียชีวิต จำนวน 3 ล้านบาท แต่มีทรัพย์มรดกจำนวน 2 ล้านบาท ดังนั้น ทายาทก็ต้องรับชดใช้หนี้ เพียง 2 ล้านบาท ส่วนหนี้สินที่เหลืออีก 1 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น

แต่ในทางกลับกันหากเจ้ามรดก มีทรัพย์มรดก 5 ล้านบาท ทายาทต้องนำเงินไปชำระหนี้สิน 3 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 2 ล้านบาท ก็จะเป็นมรดก

ทั้งนี้หากเจ้ามรดกผู้ตายมีแต่หนี้สิน ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินของผู้ตาย

เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้แทนได้หรือไม่

ตามมาตรา 1754 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

หมายความว่า เมื่อลูกหนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้อง ให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา ทั้งนี้หากไม่ฟ้องร้องภายในเวลากำหนดจะถือว่าคดีขาดอายุความ

สรุปคือ เมื่อเป็นหนี้ ก็ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้นั้น แต่เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต ทายาทผู้ได้รับมรดกก็ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินนั้นต่อไป แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ ในส่วนของเจ้าหนี้เองก็มีสิทธิร้องให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้แทนลูกหนี้แต่มีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้

ทางออกของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันคือ ควรจัดสรรปันส่วนให้พอดี และไม่สร้างหนี้ให้ตัวเองต้องเดือดร้อน แต่หากจำเป็นต้องมีหนี้ ก็ควรจัดสรรเพื่อใช้หนี้คืนให้หมดโดยเร็ว และไม่ควรใช้ “ความตาย” เป็นทางออก เพราะ “หนี้” ไม่ได้หมดไปกับชีวิต แต่จะถูกส่งต่อเป็นความเดือดร้อนให้ลูกหลาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง