การศึกษาทางเลือก เลือกได้จริงหรือ ?

ภูมิภาค
26 พ.ย. 65
15:03
328
Logo Thai PBS
การศึกษาทางเลือก เลือกได้จริงหรือ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้การศึกษาทางเลือกในรูปแบบ "บ้านเรียน" หรือ "โฮมสคูล" และ "ศูนย์การเรียน" จะเป็นการจัดการศึกษาตามสิทธิ์ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อน และขาดกลไกที่ชัดเจน

การเพาะพันธุ์ปลาสวยงาม เป็นหนึ่งในการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวในรูปแบบ บ้านเรียน หรือ โฮมสคูล ของเด็กหญิงธิณัจกร ปัญญา หรือ น้องแคนดี้ วัย 4 ขวบ ที่ผู้ปกครองสามารถสอดแทรกเนื้อหาวิชาเรียนหลายๆ วิชา อาทิ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในระดับชั้นปฐมวัย

 

ครอบครัว ปัญญา ใน อ.เมืองเชียงใหม่ เลือกทำ บ้านเรียน เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของครอบครัว และเป็นไปตามความต้องการลูกน้อย

 

นายอัษฏายุทธ ปัญญา พ่อของน้องแคนดี้ เล่าว่าได้ยื่นเรื่องขออนุญาตตั้งบ้านเรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 หรือ สพป.เชียงใหม่ เขต 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

 

แต่การอนุมัติกลับเป็นไปอย่างล่าช้า สาเหตุเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ปกครองยืนยันจะใช้แผนการเรียนจากสิ่งรอบตัว ไม่ใช่แผนการเรียนตามที่สพป.เชียงใหม่ เขต 1 แนะนำ จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่ภาคเรียนที่2 ครอบครัวก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้จัดการศึกษาแบบบ้านเรียน

 

บุคลากรเลือกปฏิบัติ เพราะบ้านเรียนที่ยื่นเรื่องทีหลัง แต่ปฏิบัติตามที่เขตแนะนำ กลับได้รับการอนุมัติแล้ว ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารไปดองไว้เป็นสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามว่า หากลูกของผมหลุดระบบการศึกษา เจ้าหน้าที่จะรับผิดชอบอย่างไร

 

ไม่ต่างจากอีก 3 ครอบครัวใน จ.เชียงใหม่ ที่พบปัญหาการยื่นเรื่องของจัดทำบ้านเรียน หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัวของ นายณัฐวุฒิ ธุระวร ที่เลือกทำบ้านเรียนให้ลูกชายวัย 7 ปี ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ หลังเสนอขอจัดทำบ้านเรียนด้วยแผนการเรียนจากกลุ่มประสบการณ์ เน้นเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และ ดนตรี โดยไม่ยึดตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ที่ทาง สพป.เชียงใหม่ เขต 1แนะนำ

 

การเรียนรู้บ้านเรียนผมเชื่อว่าจะให้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องเป็นไปตามวิถีชีวิตจริง ความถนัดของพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อม การอนุมัติบ้านเรียนที่ล่าช้า มีผลกระทบต่อจิตใจของครอบครัว และตัวเด็กเอง

 

นายอนุกูล ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ชี้แจงว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เป็นเพราะขั้นตอนการจัดส่งเอกสารขออนุมัติ ระหว่างผู้ปกครอง มายัง สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ แต่ล่าสุดได้ทำความเข้าใจทุกฝ่ายแล้ว เชื่อว่าศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่จะลงนามอนุมัติในเร็ววันนี้

 

ส่วนการจัดทำหลักสูตรที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า สพป.เชียงใหม่ เขต 1 พยายามกำหนดกรอบหลักสูตร ขอยืนยันว่าผู้ปกครองมีอิสระเต็มที่ในการทำแผนหลักสูตรการเรียนรู้ ทางสำนักงานเพียงแต่จะส่งศึกษานิเทศก์ไปเยี่ยมที่บ้าน เพื่อตรวจสอบว่าการจัดการเรียนเป็นไปตามแผนหรือไม่เท่านั้น

 

อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยระบุว่า แม้บ้านเรียนจะเป็นการจัดการศึกษา ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการขอจัดตั้ง มักจะไม่ได้รับอนุญาต

 

ในระบบการศึกษาของ สพฐ.ส่วนใหญ่เน้นผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่บ้านเรียนเน้นจัดการศึกษาตามความรัก ความชอบ ความถนัดและ ความฝันของเด็ก สนับสนุนให้เด็กพัฒนาตัวเองให้เต็มศักยภาพตามธรรมชาติของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน

 

คุณภาพของการเรียนในระบบ มักเป็นเรื่องของการสอบได้ ผลงานทางวิชาการ แต่กลุ่มบ้านเรียนจะเน้น ทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ และ ทักษะวิชาการ เป็นกระบวนการจัดการศึกษาแบบองค์รวม และ ปรับใช้จากหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งเป็นระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว

 

ขณะที่ การประเมินผล การศึกษาในระบบจะเป็นวัดผลด้วยการสอบ แต่การศึกษาทางเลือก เราประเมินตามสภาพจริง ให้เด็กประเมินตัวเองหรือ ประเมินแบบมีส่วนร่วม ตามความรู้ที่เด็กมีอยู่จริงๆ

 

ในช่วงหลัง การขออนุญาตจัดตั้งบ้านเรียนยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ทั้งที่เจตนาตามกฏหมาย คือ การให้สิทธิ์สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อทำให้การศึกษามีความหลากหลายมากขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น

 

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย จึงเสนอให้การศึกษาทางเลือก และ มีกลไกที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีระบบ one stop service ในหน่วยงานเดียว ที่ดำเนินการตั้งแต่ขออนุญาตจัดตั้ง การสนับสนุน การประเมินผล การออกใบประกาศ ให้เป็นระบบการศึกษาหนึ่งที่มีความชัดเจน และ มีสถานภาพเท่าเทียมกับการศึกษาในระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง