หลากหลายมุมมอง "คนละครึ่งเฟส 6 " ไม่ได้ไปต่อ

เศรษฐกิจ
28 พ.ย. 65
19:22
1,468
Logo Thai PBS
หลากหลายมุมมอง "คนละครึ่งเฟส 6 " ไม่ได้ไปต่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ค้า-ผู้ได้รับสิทธิ-นักเศรษฐศาสตร์ สะท้อนมุมมองหลังโครงการ "คนละครึ่งเฟส 6" ไม่ได้ไปต่อ ขณะที่พรุ่งนี้ (29 พ.ย.) กระทรวงการคลัง ชงครม.เสนอ"ช้อปดีมีคืน" มาตรการลดดอกเบี้ย ส่วนพลังงงานจะเสนอตรึงค่าไฟม.ค.-เม.ย.2566

วันนี้ (28 พ.ย.2565) การประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) หลายหน่วยงานจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งอาจไม่มีมาตรการ "คนละครึ่ง ระยะที่ 6" ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลาย

จากการสำรวจของไทยพีบีเอส พบว่าบรรยากาศการจับจ่าย บริเวณตลาดหลังกระทรวงการคลัง ย่านพระราม 6 ไม่คึกคักเท่าที่ควร อดีตผู้ค้าในโครงการ "คนละครึ่ง" บอกว่า ประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น

และไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" เพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะเคยเข้าร่วมโครงการมา 3 เฟสแรกมาแล้ว ประสบปัญหา ากระบบการทำงานของแอปพลิเคชัน ซึ่งเชื่อมระบบกับแอปพลิเคชัน ฟู๊ด เดลิเวอร์รี่ ทำให้การได้รับเงินจากคำสั่งซื้อบางส่วน ไม่สมบูรณ์ กระทบการขายหน้าร้าน โดยไม่เกี่ยวกับปัญหาภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น

ภาษีต้องเสียอยู่แล้ว ผลกระทบยุ่งยาก ต้องสแกน เพราะลูกค้าที่จ่ายเงินสดต้องรอ บางทีเครือข่ายล่ม กว่าจะสแกนเสร็จ เสียเวลาในจุดนี้

ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์บางส่วน สนับสนุนให้รัฐบาล ไม่ต่ออายุมาตรการ "คนละครึ่ง" หลังการดำเนินโครงการในระยะหลัง พบปัญหาทั้งร้านค้ายกเลิกการเข้าร่วมโครงการ  ปัญหาร้านค้าเพิ่มเงื่อนไขหากใช้สิทธิ์ เช่น รับชำระเงินสดบางส่วน และสแกนสิทธิ์ได้บางส่วน จึงสนับสนุนให้รัฐบาล นำงบประมาณไปดำเนินการโครงการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม่ค้าบางกลุ่มอาจห่วงเรื่องภาษี เพราะมีการโอนเกิน 400 ครั้งและอยากให้นำเงินจากคนละครึ่งไปใช้กับเรื่องสังคมอื่นๆ หรือชาวนาที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

ชี้หากคนละครึ่งไปต่อ "การคลัง" อาจเสี่ยง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ช่วยเหลือแบบวงกว้าง ไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

หากยังคงดำเนินการต่อ อาจสร้างความเสี่ยงทางการคลัง จนเกือบชนเพดานหนี้สาธารณะ ในระยะ 6-7 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี พร้อมเสนอให้รัฐบาล ดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงาน 

มาตรการช่วยเหลือในวงกว้างมีความจำเป็นน้อยลง แต่ต้องระบุให้ได้วันนี้ควรช่วยเหลือใคร และบางกลุ่มที่กลับมาทำงานได้แล้ว อาจจะอุดหนุนเรื่องการจ้างงานเพื่อให้กลไกเดินหน้าได้

ส่วนมาตรการของขวัญปีใหม่คาดว่ากระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการใช้จ่ายสินค้าและบริการ 40,000 ล้านบาท และมาตรการลดดอกเบี้ยของแบงก์รัฐ กระทรวงพลังงาน จะตรึงค่าไฟ งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ที่หน่วยละ 4.72 บาท

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ จะจัดงานมหกรรม แกรนด์ เซลล์ จำหน่ายสินค้า ในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อลดค่าครองชีพ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง