ยังไม่รู้เมนูไหนทำโลกร้อนน้อยสุด! ทปอ.แจงเจตนาหวังกระตุ้นทักษะ-ทัศนคติคนสอบ

สังคม
11 ธ.ค. 65
14:56
3,811
Logo Thai PBS
ยังไม่รู้เมนูไหนทำโลกร้อนน้อยสุด! ทปอ.แจงเจตนาหวังกระตุ้นทักษะ-ทัศนคติคนสอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทปอ.แจงเจตนาปรับข้อสอบ เพื่อกระตุ้นทัศนคติ-พัฒนาทักษะ ผู้สอบหลังข้อสอบ “เมนูไหนโลกร้อนน้อยที่สุด” กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมระบุ ต้องคิดไปให้สุดของห่วงโซ่อาหาร

วันนี้ (11 ธ.ค.2565) หลังจากกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ (TPAT) โดยมีข้อสอบที่ถามผู้เข้าสอบว่า

เมนูใดต่อไปนี้ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด มีคำตอบ 4 ข้อให้เลือกคือ 1.ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย 2.ราดหน้าหมู 3.สเต็กปลาแซลมอน และ 4.สุกี้ทะเลรวม นั้น

ทปอ.เผยแพร่ประกาศ TCAS66 เรื่อง ทปอ. ชี้แจงประเด็นที่สื่อสังคมให้ความสนใจข้อสอบ TGAT พร้อมอธิบายเจตนาของการปรับการสอบรูปแบบใหม่ บนเพจ “Mytcas.com” ระบุว่า

ตามที่มีประเด็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับข้อสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) ในข้อคำถามเกี่ยวกับการเลือกเมนูอาหาร ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยที่สุดนั้น คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS รู้สึกยินดีที่ข้อคำถามดังกล่าว กระตุ้นให้มีการถกเถียง และทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการเลือกรับประทานอาหาร ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างก๊าซเรือนกระจก ตามหลักของเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืนข้อ 13-Climate Action ของสหประชาชาติ (SDG: Sustainable Development Goals)

เพราะนอกจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ประหยัดพลังงาน การเดินทางโดยสารารณะ การเลือกทานอาหารจากแหล่งในท้องถิ่น และการบริโภคอย่างพอเหมาะ แล้วการเลือกชนิดอาหารที่รับประทานก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ในการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน ข้อสอบดังกล่าวได้พัฒนาบนฐานความรู้ของการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของสังคม (Civic Engagement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competency) ในส่วนที่ 3 ของวิชา TGAT ซึ่งเป็นวิชาใหม่ที่จัดสอบในปีนี้เป็นครั้งแรก

ความมุ่งหวังประการหนึ่งของการพัฒนาระบบการสอบรูปแบบใหม่ ในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศ ไทย คือการกระตุ้นให้ผู้เข้าสอบได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะอนาคตและทัศนคติที่ดี

โดยกำหนดให้เป็นส่วนใหม่ของการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) เช่น การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การคิดเชิงวิพากษ์และการใช้เหตุผล การบริหารจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม และการเป็นผลเมืองที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาของสังคม

และหวังว่า การจัดศึกษาในอนาคตและการพัฒนาตนเองของผู้เรียน จะเป็นไปในทิศทางดังกล่าวควบคู่ไปกับการเรียนรู้และประยุกต์เนื้อหาเชิงวิชาการตามหลักสูตรไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังมีนักสิ่งแวดล้อมออกมาแสดงความเห็น เช่น นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit

ระบุว่า

ข้อสอบ อาหารโลกร้อนเจ้าปัญหา เห็นหลายคนพยายามเฉลย
ว่า เป็น ข้าวไก่กระเทียมพริกไทย
อันนี้ ไม่เห็นด้วยเลย
เวลาดู supply chain ต้องดูให้สุด
ภูเขาหัวโล้น เป็นลูกๆ ทางเหนือ
น่าน แม่ฮ่องสอน แม่แจ่ม อุ้มผาง
ลามไปถึง รัฐฉาน ในพม่า และ ลาว
เป็นผลพวงของการถางป่า ทำไร่ข้าวโพด
เอามาผลิตอาหารไก่
นอกจากนี้ ทำลายป่า ที่ช่วยดูดซับ คาร์บอนแล้ว
ก็ เผา ทั้งป่า ทั้งไร่
ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เข้าสู่บรรยากาศมากมายมหาศาลทุกปี
กินไก่ ลดโลกร้อน นี่ ห่างไกลจากความจริงมากครับ
ถ้ามี choice มังสวิรัติ (ผัก พื้นบ้าน)
น่าจะเลือกไม่ยาก

ขณะที่ นายธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นว่า ข้อสอบนี้สะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ ตั้งแต่การเน้นให้ท่องจำ ไปจนถึงการขาดการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ

คำถามของข้อสอบมีความคลุมเครืออย่างยิ่ง และทำให้ตัวเลือกทั้ง 4 ยิ่งคลุมเครือหนักขึ้นไปอีก

ความคลุมเครือของคำถามคือ (1) คำว่า “สร้างก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งอาจเป็นชนิดของก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่คาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว) ชนิดใดชนิดหนึ่ง/หลายๆ ชนิดก็ได้ หรือพิจารณาในแง่ Carbon Footprint ก็ได้

(2) ความคลุมเครือของคำว่า “ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน…” เพราะก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดมีศักยภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อน(Global Warming Potential) ต่างกันไป

พอคำถามมีความคลุมเครือ/กำกวม การหาคำตอบว่าข้อไหนถูกจึงเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ต่อผู้ทำข้อสอบ บางคนอาจคิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งไก่ หมู ปลาแซลมอนและสัตว์ทะเล (หมึก กุ้ง ฯลฯ) ว่า เลี้ยงแบบอุตสาหกรรมหรือเลี้ยงแบบบ้านๆ

บางคนอาจคิดจาก Carbon Footprint ของแต่ละเมนู บางคนอาจคิดไปไกลถึงห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ตั้งแต่ต้นจนจบของแต่ละเมนู
การตั้งคำถามที่ชัดเจนและชาญฉลาดจึงมีความสำคัญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง