"Midjourney-ChatGPT" อัจฉริยะจนไวรัล ผู้เชี่ยวชาญชี้ปี 66 กระแส AI ยังแรง

Logo Thai PBS
"Midjourney-ChatGPT" อัจฉริยะจนไวรัล ผู้เชี่ยวชาญชี้ปี 66 กระแส AI ยังแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"Midjourney-ChatGPT" ปลุกกระแส AI ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งวาดภาพตามคีเวิร์ด หรือคิดโจทย์เลข ทำสคริปต์โฆษณา ไปจนถึงแต่งเพลง ทำได้หลายอย่างแบบนี้ กลายเป็นคำถามในโซเชียลว่า "คนจะตกงานหรือไม่" ชวนหาคำตอบกับ ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ สวทช.

ปี 2565 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความคึกคักของวงการ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา The New York Times รายงานว่า ผู้บริหารของ Google ได้ประกาศ "รหัสสีแดง" หลังแชตบอต (Chatbot) ที่ชื่อว่า "ChatGPT" ซึ่งเป็น AI ที่ถูกพัฒนาโดย OpenAI ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

"ChatGPT" คือ แชตบอตทดลองที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง โดยนายเทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่า เมื่อก่อนผู้คนมักค้นหาข้อมูลจาก Google แต่ปัจจุบันวิธีการค้นหาข้อมูลนั้นแตกต่างออกไป โดยผู้คนเริ่มค้นหาข้อมูลด้วยการตั้งคำถาม

เมื่อตั้งคำถามผ่าน ChatGPT ตัวแชตบอตจะวิ่งไปหาข้อมูลที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราค้นหา โดยจุดเด่นของมัน คือ วิธีการตอบที่ใกล้เคียงธรรมชาติ เป็น Communication เหมือนคนคุยกัน โดยจะเริ่มเกริ่นก่อนจะตอบคำถามนั้น ๆ ด้วยความนุ่มนวล

อย่างไรก็ตาม นายเทพชัย ยังระบุว่า หลังจากทดลองใช้งานแล้วพบว่า ChatGPT ยังมีช่องว่างเกี่ยวกับกลไกพัฒนาโมเดลให้เข้าใจภาษาอยู่ เนื่องจากการตอบภาษาไทยอาจจะยังทำไม่ได้เท่าภาษาอังกฤษ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการพัฒนา AI มาผสมกับแชตบอตเพื่อให้เกิดการพูดคุยที่ใกล้เคียงคนคุยกันมากยิ่งขึ้น

ไม่เฉพาะบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่คนทั่วไปที่ได้ทดลองใช้ ChatGPT ก็มีการตั้งคำถามว่า "คนจะตกงานหรือไม่" เมื่อมี AI ที่สามารถทำงานได้หลายอย่างทั้งตอบคำถามที่คนพิมพ์ไปถาม หรือทำตามคำสั่ง เช่น เขียนสคริปต์โฆษณา ไปจนถึงแต่งเพลง หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ที่ Midjourney AI วาดรูปตามคีเวิร์ดก็ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน ซึ่งเทรนด์ของวงการ AI ในปีที่ผ่านมาเน้นเรื่องภาพและภาษา เทรนด์ในปีหน้าก็ยังคงเป็นเรื่องของภาษาอยู่ เช่นกัน โดยอาจจะมี AI แต่งหนังสือ หรืออื่น ๆ ออกมาให้ได้เล่นกัน และคาดว่าจะสร้างเสียงฮือฮาได้อีกครั้ง

คำถามนี้ นายเทพชัย ตอบว่า AI เป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น อย่างการค้นหาข้อมูล ก็มักจะเป็นข้อมูลที่ง่าย ๆ ส่วนคำถามที่ยากและซับซ้อนก็ยังคงต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขา อาชีพนั้น ๆ อยู่ ดังนั้น หากมีความเชี่ยวชาญ และชื่นชอบในงานที่ทำอยู่ อย่างไรก็รอด ไม่ตกงานแน่นอน แต่ถ้าไม่เชี่ยวชาญก็เป็นไปได้ที่จะอันตราย

ถ้าวาดรูปเก่ง และชอบวาดรูปมาก Midjourney ก็เป็นแค่คน ๆ หนึ่ง หรือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างไอเดียขึ้นมา เหมือนนักแสดง หรือนักร้อง ที่มีอยู่มาก เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนใครจะดัง แต่ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญและรักในสิ่งที่ทำก็ไม่ต้องกลัวอะไร 

ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์  ย้ำว่า AI อาจจะสร้างอะไรที่ช่วยให้คนไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องที่ไม่ชอบ หรือไม่ถนัด เพื่อให้คนเอาเวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่มีความสุข ขณะเดียวกันปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และมีเด็กลดลง ดังนั้น ในอนาคตแรงงานอาจต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานขาดแคลน สิ่งที่จะช่วยได้คือการใช้ AI ทดแทนไปก่อนในบางส่วนที่พอจะช่วยให้คนเหนื่อยน้อยลง 

Metaverse ไปไม่ถึงฝัน หรือยังไม่ถึงเวลา

ส่วน Metaverse หรือโลกเสมือน ที่ร้อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี แต่กระแสกลับเริ่มเบาบางไป นายเทพชัย ระบุว่า Metaverse จะมาแรงในอนาคตแน่นอน แต่ปัจจุบันด้วยปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นที่ที่รองรับให้ Metaverse เดินหน้าต่อไปได้ ยังต้องใช้เวลา โดยเฉพาะ 5G ที่แม้จะพูดกันว่า 5G มาแล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันไทยก็ยังไม่ได้ใช้ความสามารถของ 5G อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน คนที่เข้าไปใช้งานก็ยังไม่ใช่คนจำนวนมาก ข้อมูลที่ไหลเข้าไปก็ยังไม่สามารถเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ได้ จึงทำให้เทคนิคต่าง ๆ อย่าง AI ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยได้มากพอ คิดว่าต้องใช้เวลาอีกสักนิดเพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานดีก่อน โดยระหว่างรอเวลา ในไทยเองก็มีการพัฒนาโครสร้างต่าง ๆ ที่จะใช้ในโลก Metaverse รวมถึงการไปผูกโยงกับ Smart city ด้วย

สมาคม Metaverse บางพื้นที่ก็เข้าไปเจาะกลุ่มสถาบันการศึกษาเพื่อสอนการปั้นอะไรบางอย่าง เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน เพื่อนำเข้าไปในโลก Metaverse ซึ่งในอนาคตอาชีพปั้นโมเดล Metaverse นี้เป็นอีกอาชีพที่น่าสนมากเช่นกัน

แผนยุทธศาสตร์กับจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ ในปี 2565 ครม.ยังได้อนุมัติแผนปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติแล้ว ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดและควบคุมวงการ AI โดยเฉพาะด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคล้ายกับประเทศในฝั่งยุโรป เมื่อคนเข้าใกล้ AI มากยิ่งขึ้น ต่างประเทศเริ่มทำให้คนตระหนักเรื่องการใช้ประโยชน์จาก AI มากขึ้น ทั้งการเข้าใจว่า AI คืออะไร ใช้งานอย่างไร และมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ซึ่งความเสี่ยงจะมีหลายระดับแตกต่างกันไป

ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่กำลังจะเข้ามาไทย หากมีการใช้โหมดออโต้ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นหมวดอัจฉริยะที่อาจเทียบเท่ารถยนต์ไร้คนขับ กรณีนี้มีความเสี่ยงมาก ในสหรัฐฯ หรือยุโรปเอง ณ ตอนนี้หากผิดจะดูว่าผิดที่ใคร ซึ่งกฎหมายบอกชัดเจนว่า คนขับจะต้องนั่งอยู่หลังพวงมาลัย และต้องพร้อมเสมอที่จะบังคับรถ แต่หลายเคสอุบัติเหตุ กลับพบว่า คนขับหลับใน ดังนั้น ก็กลายเป็นว่าคนขับต้องรับผิดชอบนั่นเอง

ทั้งนี้ นักพัฒนายังคงเดินหน้าพัฒนาระบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อสร้างประโยชน์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การนำไปใช้ในทางที่ผิดก็พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น มิจฉาชีพที่ใช้แอปพลิเคชัน Deepfake เทคโนโลยีเปลี่ยนใบหน้า เพื่อมาหลอกลวงประชาชน ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนอาจต้องใส่ใจและเรียนรู้เทคโนโลยีอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันภัยใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง