ใครเป็นใครบนเรือหลวงลำใหญ่

สังคม
30 ธ.ค. 65
17:09
12,365
Logo Thai PBS
ใครเป็นใครบนเรือหลวงลำใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ทำให้คำศัพท์เกี่ยวกับตำแหน่ง "ทหารเรือ" เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และในทุกตำแหน่งนั้นต่างมีความสำคัญในการเดินเรือทั้งสิ้น

เรือหลวง หรือ เรือในสังกัดของกองทัพเรือ จะมีหน้าที่ มีเวร มีกะ ที่ต้องเข้างาน ซึ่งจะเรียกว่า “เข้าราชการ”

เฉกเช่นเดียวกับนายทหารเรือประจำเรือนั้นๆ ที่จะต้องเข้าเวร หรือ “ไปราชการ” พร้อมๆ กับเมื่อเรือหลวงเข้าราชการ

เรือลำหนึ่งจะมี “อัตราเต็มที่” หรือ จำนวนคนที่รับได้กำหนดไว้ เช่น กรณีของเรือหลวงสุโขทัยที่มีตัวเลขกำหนดไว้ชัดเจนคือ 87 คน

จำนวนคนที่กำหนดไว้ เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของน้ำหนักและความสมดุล (Weight-Balance) ของพาหนะ ถ้าใช้กับยานพาหนะทั่วไป เช่น รถโดยสารประจำทาง เรือ เครื่องบิน จำนวนคนที่รับได้เต็มที่คือสิ่งที่พึงระวัง

แต่กรณีของเรือหลวง “สามารถรับคนเกินกว่าอัตราเต็มที่ได้" โดยที่การปฏิบัติงานยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ

ยิ่งคลื่นลมแรง เรือหลวงยิ่งต้องออกจากฝั่ง

เพราะอีก 1 หน้าที่อันสำคัญของเรือหลวงของไทย ที่นอกจากการปกป้องอธิปไตยในน่านน้ำทะเลไทยแล้วนั้น การช่วยเหลือเรือประมง เรือบรรทุกสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน ในทะเล ในยามที่เกิดพายุ คลื่นลมแรง คือภารกิจที่สำคัญอีกอย่างเช่นกัน

กรณีที่เรือหลวงต้องช่วยเหลือลูกเรือจากเรืออื่นที่อับปาง การรับลูกเรือที่ถูกช่วยเหลือจำนวนมากขึ้นมาบนเรือหลวง ในขณะที่บนเรือหลวงเองก็มีกำลังพลเต็มอัตรานั้น คืออีกหน้าที่ของเรือหลวงไทย

การที่มีจำนวนคนที่มากกว่าอัตราเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

แล้วเสื้อชูชีพจะเพียงพอหรือ

ทหารเรือที่ประจำเรือแต่ละคน จะมี เสื้อชูชีพประจำตัว เป็นของตัวเอง บางคนอาจมีมากกว่า 1 ตัว นอกจากนั้นแล้วบนเรือยังต้องมี เสื้อชูชีพสำรอง ที่ต้องเตรียมไว้ให้กรณีที่มีกำลังพล หรือ ลูกเรือที่รับมาจากการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน “ผู้การเรือ” จะเป็นผู้สั่งการตามลำดับขั้นตอนการเตรียมตัวเองในยามฉุกเฉิน
“เสื้อชูชีพ” จะถูกนำมาใช้ทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าอีกทางหนึ่งเช่นกันว่า

คนสามารถเอา เสื้อชูชีพ ที่ถูกเก็บไว้ มาใช้ได้หรือไม่ ?

นอกจากจะต้องรู้และจำให้ได้แล้วว่า ตำแหน่งของเสื้อชูชีพอยู่ที่ไหน การสวมใส่ที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะยิ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเองได้เพิ่มขึ้น

Chain of Command

หรือลำดับขั้นของการบังคับบัญชา ต้องไม่ลืมว่าในเรือลำใหญ่ เช่น เรือหลวงสุโขทัย ที่บรรทุกคนได้มากถึง 87 คนนั้น

ทุกคนที่ขึ้นไป มีหน้าที่ของตัวเองทั้งสิ้น

การที่จะควบคุม สั่งการคนเกือบร้อยคนให้แล่นเรือไปได้นั้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องมี “ผู้บังคับการเรือ” หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า “ผู้การเรือ”

ผู้การเรือ คือคนที่มีอำนาจมากที่สุดบนเรือ เป็นเหมือนหัวหน้าบริษัท CEO คอยสั่งการอีก 86 คนที่เหลือบนเรือ

ต้นเรือ หรือ รองผู้บังคับการเรือ เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจอันดับ 2 บนเรือ หากผู้การเรือไม่สามารถสั่งการได้ คนที่เหลือบนเรือจะต้องหันมาทำตามคำสั่งของ ต้นเรือ แทน

ถ้าตามภาษาทหารเรือ จะเรียก ต้นเรือ ว่า “แม่บ้านเรือ” เพราะจะมีหน้าที่จัดเตรียมอุปกรณ์ เตรียมในการเดินเรือ แผนที่การเดินเรือ รวมถึงดูแลปากท้องลูกเรือที่เหลือทั้งหมดอีกด้วย

ต้นหน จะมีหน้าที่นำเรือเข้าท่าหรือออกจากท่าเป็นหลัก เมื่อเรือแล่นสู่กลางทะเลแล้ว ก็จะรับหน้าที่อื่นๆ ตามแต่กำหนดไว้ในเวร

ต้นกล คือคนที่ดูแลเครื่องจักรในท้องเรือ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เป็นวิศวกรประจำเรือ คอยดูแลรักษา และซ่อมแซม เมื่อเครื่องจักรของเรือมีปัญหา

ต้นปืน คือนายทหารเรือที่มีหน้าที่จัดการดูแลเรื่องของอาวุธต่างๆ ที่อยู่บนเรือ ทั้งการรบ การดูแลรักษา

สรั่งเรือ คือ ทหารเรือที่จบจากโรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องที่เรียนมานั้นๆ และส่วนใหญ่จะอยู่ประจำเรือนั้นๆ ไม่ได้ย้ายไปไหน เป็นตำแหน่งหัวหน้าระดับผู้ปฏิบัติ มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติของลูกเรือระดับผู้ปฏิบัติ ซึ่งในเรือรบจะแบ่งตามสายงานเฉพาะ เช่น จ่าปืน, จ่าเรือ

สรั่งเรือจะเป็นฝ่ายสนับสนุนงานร่วมกับต้นเรือ 

ในเรือที่ลำไม่ใหญ่ การแบ่งลำดับขั้นการทำงานเรียงได้คร่าวๆ ดังนี้
1. ผู้บังคับการเรือ
2. ต้นเรือ
3. ต้นหน, ต้นปืน, ต้นกล
4. สรั่งเรือ

แต่ถ้าเรือมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะมีตำแหน่ง “รองต้น...” แทรกขึ้นมา
1. ผู้บังคับการเรือ
2. ต้นเรือ
3. ต้นหน, ต้นปืน, ต้นกล
4. รองต้นหน, รองต้นปืน, รองต้นกล
5. สรั่งเรือ

ทั้งหมดนี้คือฝ่ายปฏิบัติงาน ในการทำให้เรือแล่นในทะเลได้ แต่เมื่อเรือออกสู่ท้องทะเลแล้ว ไม่ใช่ว่าไปเช้าเย็นกลับ หรือไปวันนี้กลับพรุ่งนี้ บางครั้งการออกเดินเรืออาจกินเวลานานเป็นเดือนหรือแรมปี เรือจึงจำเป็นต้องมีฝ่ายสมทบอื่นๆ เข้ามาอีก เช่น ฝ่ายแพทย์, ฝ่ายสื่อสาร รวมถึงทหารพลาธิการ หรือทหารเรือฝ่ายสวัสดิการ คอยช่วยเหลืองาน ประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ให้

หน้าที่ที่ถูกเลือกตั้งแต่เรียน

หลายคนอาจสงสัย คน 87 คน จะแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร ทั้งตำแหน่งหน้าที่ของกำลังพลแต่ละคนบนเรือนั้นจะถูกกำหนดจากการเลือก “พรรค” ซึ่งมี 3 พรรค ในขณะที่เรียนโรงเรียนนายเรือมาแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจการเดินเรือ การบริหารจัดการ จะเลือกเรียน “พรรคนาวิน” ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ที่เรียนพรรคนาวินเท่านั้นที่จะสามารถเดินทางสู่ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารเรือ” ซึ่งรวมถึงตำแหน่ง ต้นหน ต้นเรือ และต้นปืน

ส่วน ต้นกล หรือวิศวกรประจำเรือ คือสายงานสำหรับผู้ที่เลือกเรียน “พรรคกลิน”

และ “พรรคนาวิกโยธิน” ที่เป็นทหารเรือสายบก ทำงานยุทธวิธีภาคพื้นดิน ยกพลขึ้นบก ซึ่งจะพบได้น้อย หรือไม่มีเลยบนเรือหลวง ยกเว้น เรือหลวงจักรีนฤเบศร หรือเรือยกพลขึ้นบก ที่กำลังพลจากพรรคนาวิกโยธินต้องประจำเรือด้วย

ซึ่งทั้ง 3 พรรคนั้น ต่างมีความสามารถเฉพาะทางที่เหล่านักเรียนนายเรือ
ได้ถูกฝึกสอนมา และมีความสำคัญเท่าเทียมกันทุกตำแหน่งงาน

ในการเดินเรือนั้น พื้นที่บนเรือที่เป็นทางแคบๆ รวมถึงบริเวณบนเรือที่เหมือนถูกจำกัดพื้นที่เป็นเวลานาน “ความกดดัน ความเครียด” จะเกิดขึ้นกับเหล่ากำลังพลได้เสมอ การจัดเวรยาม เปลี่ยนกะ เปลี่ยนเวรกันสำหรับทหารเรือนั้น จะต้องแบ่งให้บ่อยและถี่ เพื่อป้องกันความเครียดสะสม จึงเป็นที่มาที่ว่า กำลังพลที่ออกเรือในแต่ละครั้ง จึงมีจำนวนมาก และในตำแหน่งๆ หนึ่ง อาจจะไม่ได้มีเพียงคนเดียว

ยกเว้น ตำแหน่ง ผู้บังคับการเรือ

ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ทั้งจำนวนคนเกือบร้อยชีวิต ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน อย่างไรเสีย ความรัก ความสามัคคี ย่อมเกิดขึ้น ผูกพันกันไปตามกาลเวลาที่ยาวนานตามการเดินเรือ และกำลังพลทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ ก็คงหวังเสมอ ทุครั้งที่ออกเรือพร้อมกัน และหวังที่จะกลับเข้าฝั่งพร้อมกัน

ข้อมูลทั้งหมด เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น

ที่มา : HyperWar : Seamanship (NAVPERS 16118) [Chapter 7]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง