ความนิยมพระเครื่องของชาวจีน กับโอกาสของไทย

เศรษฐกิจ
21 ม.ค. 66
20:40
6,734
Logo Thai PBS
ความนิยมพระเครื่องของชาวจีน กับโอกาสของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พระเครื่องไทยและเครื่องรางวัตถุมงคล เป็นที่นิยมและขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ผ่านมามีทั้งเช่าไปนับถือบูชา บ้างห้อยเป็นเครื่องประดับตามแฟชั่น ไปไกลที่สุดคือต่อยอดเชิงพาณิชย์ ถึงขนาดชาวจีนไปเปิดแผงเช่าพระไทยในต่างประเทศ
ในสายตาผมพระใหม่กับเก่าขอแค่สามารถช่วยเหลือคนได้ ขอแค่มีมูลค่าสูงขึ้น ในสายตาผมถือว่าเป็นพระดีทั้งหมด

เก่า-ใหม่ ไม่สำคัญ เท่ากับศรัทธาในพุทธศาสนาและพระเกจิ ที่หนุนนำให้ “เจา เผิง (Zhao Peng)” ชาวจีนแผ่นดินใหญ่สนใจศึกษาและสะสมพระเครื่องไทยอย่างจริงจังมานานกว่า14 ปี ก่อนต่อยอดเชิงธุรกิจ เปิดศูนย์พระเครื่องในกรุงปักกิ่ง และเป็นที่ยอมรับในฐานะเซียนพระฝีมือดี

12 วันหลังแดนมังกรกลับมาเปิดการเดินทาง อาจยังเร็วไปหากจะวัดผลจากกำลังเช่าซื้อของชาวจีนที่กลับมาในตลาดพระเครื่องบ้านเรา แต่กระแสวัตถุมงคลไทยที่ยังไม่แผ่ว ก็ยังเป็นความหวังว่าตลาดพระเครื่องไทยในกลุ่มต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ยังเติบโตได้อีก

หากจำแนกวัตถุมงคลที่ชาวจีนนิยมเช่าบูชาจากบ้านเรา แบบเข้าใจง่าย ๆ ส่วนแรกคือเครื่องรางของขลัง เช่น ตะกรุด สีผึ้ง องค์เทพต่าง ๆ นิยมมากในกลุ่มขาวจีนแผ่นดินใหญ่

อีกส่วน คือพระเครื่อง ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไทยคือตลาดใหญ่สุด และมีเอกลักษณ์ หรือที่คนในวงการพระเครื่องเรียกว่า พุทธศิลป์ เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวจีน จากฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งชาวจีนในสิงคโปร์ ซึ่งมีฐานนับถือพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับคนไทย

ที่ผ่านมามีทั้งเช่าไปนับถือบูชาเป็นที่พึ่งทางใจ บ้างก็ห้อยเป็นเครื่องประดับตามแฟชั่น ไปไกลที่สุดคือต่อยอดเชิงพาณิชย์ ถึงขนาดชาวจีนไปเปิดแผงเช่าพระไทยในต่างประเทศ

Mr.Mel Vern นักธุรกิจให้เช่าพระเครื่องชาวสิงคโปร์ เห็นโอกาสและลงทุนเปิดศูนย์พระเครื่องไทยในหลายเมืองของจีน ทั้ง เซินเจิ้น หางโจว และฉงชิ่ง ด้วยเห็นคุณค่าและเสน่ห์ของพระเครื่องที่ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

เมื่อก่อนไม่ค่อยเชื่อ แต่ผมเจอปัญหาเยอะมาก เครียดมาก เงินไม่พอใช้ ผมเลยลองดู แล้วก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราเชื่อและศรัทธา

ด้านกฤษฎา ไทยสำราญ (ต้อม นครสวรรค์) เจ้าของธุรกิจเช่าพระเครื่อง เปิดเผยว่า วงการเช่าพระเครื่องนั้น ชาวสิงคโปร์สู้ราคามาก ไทยขาย 10,000 บาท เขาขาย 30,000 บาท คนจีน หรือคนสิงคโปร์ก็ซื้อกัน บางคนอาจมองว่าไทยขายแพงแล้ว แต่หากไทยขาย 100,000 บาท เขาขาย 120,000 - 150,000 บาท

ประเสริฐ จินดาบุญจรัส (หยู ท่าดินแดง) เจ้าของธุรกิจเช่าพระเครื่อง ชาวจีนสายเลือดหัวการค้าที่กระโจนเข้ามาในวงการวัตถุมงคล เปิดมุมมองของเซียนพระ เห็นว่า ยังไม่น่ากังวล เพราะเชื่อมั่นในศิลป์และศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์พระเครื่องไทยที่หาตัวจับได้ยาก

ไม่อยากให้มองเป็นคู่แข่ง แต่ให้มองเป็นคู่ค้า ถ้าเขาทำให้ตลาดโตขึ้น บ้านเราจะได้ประโยชน์ไปด้วย เขาไปผลิตเองไม่ได้ เพราะคนไทยสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเก๋ อันไหนแท้

ด้าน รอบทิศ ไวยสุศรี นักวิชาการด้านศาสนาและแฟนพันธุ์แท้พระเกจิไทย เห็นว่า ไทยควรใช้ซอฟต์พาวเวอร์ที่มี สื่อสารถึงคุณค่าและความหมายของพระเครื่อง เพื่อประโยชน์ในระยะยาวด้วย

มันอยู่ที่เราว่า ทำอย่างไรให้เขาเข้ามาแล้วไม่ได้แค่มาครั้งเดียว หรือมาเอาผลประโยชน์แล้วก็ไป แต่เราควรทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะไทยเป็นออริจินัล เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครมาเลียนแบบได้

ปฏิเสธได้ยากว่าฐานลูกค้าที่มาก กำลังซื้อและค่าเงินที่แข็งแรงของชาวจีน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดวัตถุมงคลไทยได้สูง ตลาดพระเครื่องยุคใหม่ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของศรัทธา คุณค่าทางใจ ประวัติศาสตร์และความงามทางพุทธศิลป์ แต่ยังผูกโยงกับพุทธพาณิชย์ ที่มีการลงทุนและกำไรเกี่ยวเข้ามาข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง