"กล้องเจมส์ เวบบ์" ค้นพบเศษน้ำแข็งในอวกาศที่เย็นที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมา

Logo Thai PBS
"กล้องเจมส์ เวบบ์" ค้นพบเศษน้ำแข็งในอวกาศที่เย็นที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักดาราศาสตร์ตั้งมั่นใช้ “กล้องเจมส์ เวบบ์” ศึกษาภาพถ่ายฝุ่นผงและเศษน้ำแข็ง ที่กระจายตัวอยู่ทั่วกลุ่มดาวกิ้งก่าคะมีเลียน ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา

"กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์" ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยมีมา ได้ค้นพบเศษน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมหาศาล กระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางกลุ่มเมฆโมเลกุล (Molecular Cloud) หรือ ฝุ่นผงหนาทึบที่ล่องลอยไปมาระหว่างดวงดาว บริเวณกลุ่มดาวกิ้งก่าคะมีเลียน ที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 500 ปีแสง

โดยเศษน้ำแข็งละแวกนี้มีอุณหภูมิต่ำกว่าติดลบ 263 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของน้ำแข็งที่ต่ำที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบในเอกภพ ทำให้น้ำแข็งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ มีคุณสมบัติแข็งแรงคงทนคล้ายกับผลึกเม็ดเกลือบนโลกเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าพื้นที่แถบกลุ่มดาวกิ้งก่าคะมีเลียนจะมีดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่แผ่กระจายความร้อนอยู่มากมายก็ตาม

อีกทั้งนักดาราศาสตร์บนโลกก็ยังสั่งให้เจมส์ เวบบ์ วิเคราะห์สเปกตรัมของแสงที่ทะลุฝ่าเมฆหมอกโมเลกุลออกมาจากดาวฤกษ์ใกล้เคียง เพื่อระบุถึงธาตุอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนที่อยู่ในเศษน้ำแข็งระหว่างดวงดาวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย จนพบว่าน้ำแข็งบริเวณนี้มีสารประกอบคาร์บอน อย่างเช่น เอทานอล และเมทานอลประกอบอยู่เยอะ ซึ่งสารประกอบประเภทนี้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก

ถึงกระนั้นปริมาณสัดส่วนแร่ธาตุอื่น ๆ นอกจากน้ำแข็งที่นักดาราศาสตร์ได้มาจากเจมส์ เวบบ์นั้น ค่อนข้างมีปริมาณต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากคลื่นแสงเกิดการสะท้อนไปมาภายในผลึกน้ำแข็ง จนยากที่จะตรวจวัดอย่างแม่นยำได้

อย่างไรก็ดี การค้นพบนี้กลับกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าวัตถุดิบที่รังสรรค์ให้เกิดสิ่งชีวิตนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระบบสุริยะของเรา ถ้าหากมีดาวฤกษ์ดวงใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาในบริเวณนี้ น้ำแข็งที่กระจายตัวอยู่ก็อาจมารวมตัวกันกับวัสดุอื่น ๆ หมุนวนรอบดาวฤกษ์จนถือกำเนิดเป็นดาวเคราะห์พื้นหินแข็งที่มีมหาสมุทรขึ้นมาได้เช่นกัน ซึ่งภาพถ่ายนี้จะช่วยให้มนุษย์ไขปริศนาการกำเนิดดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มาข้อมูล: NASA , SPACE.COM
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง