ประเทศไทยอยู่ตรงไหนหากวัดจากดัชนีอาชญากรรม

อาชญากรรม
30 ม.ค. 66
15:28
2,270
Logo Thai PBS
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนหากวัดจากดัชนีอาชญากรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คะแนนดัชนีอาชญากรรมของไทยอยู่ในลำดับที่ 7 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับที่ 56 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ปัญหาอาชญากรรมหลักๆ ของไทยคือยาเสพติด ค้าสัตว์ป่า และค้ามนุษย์ องค์กรอาชญากรรมในประเทศเป็นกลุ่มมาเฟียต่างชาติซึ่งเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง

ดัชนีอาชญากรรม ประเมินจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดอาชญากรรมในประเทศนั้นๆ ผ่านระบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งมองว่าโครงสร้างของกลุ่มอาชญากรในประเทศดังกล่าวคือใคร ส่งผลหรือมีอิทธิพลอย่างไรต่อปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ตัวเลขดัชนีอาชญากรรมจะอยู่ในรูปแบบคะแนนเต็มสิบ หากคะแนนสูง หมายความว่าปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมาก

ดัชนีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรม ประเมินจากการบังคับใช้กฎหมาย สภาพเศรษฐกิจ และสังคม ว่าสามารถตอบสนองต่อปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดัชนีนี้มีคะแนนเต็มสิบเช่นกัน หากคะแนนสูง หมายความว่าประเทศนั้นๆ จัดการปัญหาอาชญากรรมและองค์กรอาชญากรรมได้มีประสิทธิภาพมาก

จากข้อมูลของ Global Organized Crime Index ระบุว่าไทยได้คะแนน 5.77 ในดัชนีอาชญากรรม ส่วนความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมอยู่ที่ 4.67 ปัญหาหลักของประเทศไทย คือ ยาเสพติด ค้าสัตว์ป่า ค้ามนุษย์ และ การนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเหล่านี้ คือ กลุ่มอาชญากรต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ และเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ จึงไม่แปลกที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมากกว่าคนท้องถิ่น และยังมีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง

ส่วนความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมนั้น ได้คะแนนค่อนข้างต่ำกว่าปัญหาอาชญากรรมที่มี ปัญหาหลัก คือ การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือกลุ่มอาชญากร รวมถึงขัดขวางไม่ให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พลเมืองและสื่อมวลชนยังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ

ในภาพรวม คะแนนดัชนีอาชญากรรมของไทยอยู่ในลำดับที่ 7 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับที่ 56 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ส่วนคะแนนความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมนั้น ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่อยู่ในอันดับที่ 99 จาก 193 ประเทศทั่วโลก

มนุษย์

ประเทศไทยเป็นทั้งทางผ่านและปลายทางสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานโดยวิธีที่ไม่ปกติจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ไปในธุรกิจต่างๆ เช่น เกษตรกรรม ประมง งานบ้าน งานบริการทางเพศ งานก่อสร้าง ภาคการผลิต และงานบริการ

เชื่อว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ฉวยโอกาสและกลุ่มอาชญากรรมขนาดใหญ่ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ช่วยปลอมแปลงบัตรประจำตัวและจัดเตรียมเอกสารเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการข้ามพรมแดน นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลที่บ่งชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ยังกระตุ้นให้เกิดการลักลอบค้าผู้หญิงและเด็กในโลกออนไลน์มากขึ้น

อาวุธ

ประเทศไทยเป็นตลาดซื้อขายอาวุธที่สำคัญแห่งหนึ่ง พบข้อมูลว่ากลุ่มผู้ค้าอาวุธจากประเทศกัมพูชาขนส่งอาวุธผ่านไทยไปประเทศเมียนมา และส่วนหนึ่งส่งมาขายยังประเทศไทย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศปลายทางของธุรกิจค้าอาวุธจากประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าตลาดค้าอาวุธในไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะตลาดมืดออนไลน์

ผู้ที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ผู้ค้ารายย่อย พ่อค้าคนกลาง เครือข่ายอาชญากรรม ไปจนถึงถึงเจ้าที่รัฐ เห็นได้จากการดำเนินคดีตำรวจและทหารที่ขายอาวุธให้กับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา

ยาเสพติด

จากมูลค่าตลาดภายในประเทศ ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไทยยังเป็นทั้งทางผ่านและประเทศปลายทางของขบวนการค้ายาเสพติด แม้มีเหตุปะทะกันระหว่างผู้ค้ายาเสพติดและเจ้าหน้าที่รัฐทางภาคเหนือของไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นที่รู้กันว่ายังมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนคอยให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับขบวนการค้ายา

ปริมาณการยึดเฮโรอีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังพบว่ามีเยาวชนเข้าถึงเฮโรอีนมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การผ่านกฎหมายให้กัญชาถูกกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในปี 2562 ถูกกล่าวหาว่ามีส่งผลให้มีผู้ใช้กัญาชาผิดกฎหมายมากกว่า 1.3 แสนคนทั่วประเทศ

ทรัพยากรธรรมชาติ

ไทยเป็นทั้งประเทศต้นทางและทางผ่านสำหรับการลักลอบค้าไม้พะยูงจากกลุ่มป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็นไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากนายหน้าชาวไทยและกัมพูชา รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาบริเวณชายแดน บางครั้งยังพบการรายงานการเผชิญหน้าระหว่างผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอุทยานฯ

ไทยยังเป็นทางผ่านและประเทศปลายทางสำหรับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น นอแรดจากทวีปแอฟริกา หนังเสือโคร่ง งาช้าง หรือตัวลิ่น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติมีทั้งเครือข่ายอาชญากรรมในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มขบวนการ

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศทางผ่านและประเทศปลายทางของขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นประเทศปลายทางสำหรับตลาดค้าอัญมณี โดยพบว่าตลาดค้าทองคำขนาดใหญ่ในไทยเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน แต่ปัญหานี้กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก

องค์กรอาชญากรรม

เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลมีอยู่ในระบบราชการและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยทุกระดับ เห็นได้จาก กรณีที่พบเจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกให้ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หรือพบเจ้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมต่างๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงเชื่อว่าองค์กรอาชญากรรมมีอิทธิพลอย่างมากต่อเจ้าหน้าที่รัฐของไทย

ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลไทยเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่กลับเป็นเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย และพบบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลขนาดเล็กจากประเทศต่างๆ แถบยุโรป

องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ป่า การฟอกเงิน และอาชญากรรมไซเบอร์ โดยมีฐานอยู่ตามชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติบางกลุ่มมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นผู้นำและธรรมาภิบาล

ผู้นำรัฐบาลไทยแสดงออกอย่างเข้มแข็งว่าต้องการปราบปรามองค์กรอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานต่างๆ กลับบ่งชี้ว่า มีอาชญากรเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกจับและดำเนินคดี สาเหตุเป็นเพราะการคอร์รัปชัน และทรัพยากรการทำงานที่จำกัด

สภาพเศรษฐกิจ

ไทยมีหน่วยงานปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่เชื่อว่าช่วยป้องกันปราบปรามปัญหาการฟอกเงินได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและหน่วยงานกลางที่ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินโดยเฉพาะ แต่หน่วยงานดังกล่าวก็ยังถูกมองว่าขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากร รวมถึงยังเผชิญกับความท้าทายเรื่องปัญหาคอร์รัปชันในสถาบันตุลาการที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน ถึงแม้ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจก็ตาม

ภาคประชาสังคมและการคุ้มครองทางสังคม

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ที่ใช้กฎหมายคุ้มครองพยาน นอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์ด้วย อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีตำรวจที่ทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง

สถาบันยุติธรรมของไทยวางกรอบการทำงานใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรม และสนับสนุนให้ผู้กระทำความผิดสามารถพัฒนาตนเอง เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในอนาคต รวมทั้งก่อตั้งหน่วยงานเฉพาะทางจำนวนมากขึ้นมาดูแลปัญหาค้ามนุษย์

หลังการรัฐประหารปี 2557 สิทธิและเสรีภาพของพลเมืองและสื่อมวลชนยังคงถูกจำกัด ภายใต้คำสั่งการรักษาความสงบเรียบร้อยของกองทัพ

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง