"กรมประมง" ขู่พักใบอนุญาตปมเอกชนโปรโมตเมนู "ปลาหยก"

เศรษฐกิจ
3 ก.พ. 66
20:03
1,119
Logo Thai PBS
"กรมประมง" ขู่พักใบอนุญาตปมเอกชนโปรโมตเมนู "ปลาหยก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กรมประมง" ขู่พักใบอนุญาตปมเอกชนโปรโมตเมนู "ปลาหยก" ชี้มีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี 2561 ผ่านบอร์ด IBC เงื่อนไขระบบปิด อนุญาติแค่ปลาแช่แข็ง ขู่หากประชาสัมพันธ์ก่อนให้ประมง จะถูกพักใบอนุญาต ขณะที่วันนี้เปิดตัวในงานเกษตรแฟร์ ประชาชนชิมซื้อปลาแช่แข็ง

กรณีบริษัท เปิดตัวปลาเก๋าหยก ทดลองเชิงพาณิชย์ แต่เกิดการตั้งคำถามว่าปลาเก๋าหยก เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ ที่กรมประมงออกประกาศห้ามนำเข้า ห้ามเพาะเลี้ยง 

วันนี้ (3 ก.พ.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก (Jade perch) เพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 ซึ่งหลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนเม.ย.2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัย โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด คือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยบริษัทฯ ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตเท่านั้น และห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด

ขู่หากปชส.นอกกรอบวิจัย-ถูกพักใช้ใบอนุญาต

ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลอง เพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร การดำเนินการศึกษาวิจัยต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึงทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ

ขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้

ทดลองชิม-ปลาหยกแช่แข็งครั้งแรก

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่งานเกษตรแฟร์ บริเวณบูทงานนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ประมง พบว่าทางซีพีเอฟ ได้นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแช่แข็งมาจำหน่าย และมีการแปรรูปเป็นเมนูอาหารให้ผู้เข้าร่วมงานชิม และซื้อกลับบ้าน เช่น เมนูปลาหยกนึ่งซีอิ้ว โดยได้รับความสนใจอย่างมาก

ผู้ที่มาชิม และซื้อผลิตภัณฑ์ บอกว่า รสชาติของปลาหยก มีเนื้อสัมผัสเหมือนกับปลาหิมะ ไม่คาว เนื้อแน่น และมีความสดมาก แม้จะผ่านการแช่แข็ง ส่วนข่าวดรามาว่าเป็นปลาห้ามนำเข้า ไม่ทราบแต่เชื่อว่าบริษัทคงมีระบบการเลี้ยงที่ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหากับระบบนิเวศ

ด้านนายสมบัติ พรขุนทด ผจก.ทั่วไป บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร บอกว่า บริษัทฯ วิจัยปลาหยกมา 7 ปีแล้ว ผ่านขั้นตอนการอนุญาตอย่างเป็นทางการ จากกรมประมง และเงื่อนไขคือจะไม่มีการขายปลาที่ไม่ตาย แต่จะแปรรูปปลาแช่แข็งเท่านั้น แต่ละล็อตการผลิตต้องมีการเช็กสต็อก

เบื้องต้นยังอยู่ในโครงการวิจัยร่วมกับกรมประมง ตั้งเป้าผลิตปีละ 70 ตัน หรือ ปีละ 200,000 ตัว และการเปิดตัวที่งานเกษตรแฟร์ ได้รับอนุญาตจากกรมประมง และถือว่าวันนี้เสียงการตอบรับค่อนข้างดี 

ส่วนข้อกังวลว่าหากปลาหยกหลุดออกไปในสิ่งแวดล้อมจะแพร่พันธุ์ได้หรือไม่นั้น นายสมบัติ กล่าวว่า ปลาหยกโอกาสรอดในธรรมชาติน้อยมาก เป็นปลาจากเมืองหนาว ลำพังเลี้ยงในระบบปิดยังเลี้ยงยาก และอาจจะถูกล่าจากปลาพื้นเมืองไม่ใช้สัตว์ผู้ล่า และการเลี้ยงด้วยระบบอาหารสำเร็จรูป แต่ยอมรับว่าในประเด็นนี้ยังไม่ได้มีงานวิจัยยืนชัดเจนและต้องศึกษาเพิ่มเติม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ปลาหยก" เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง