อดีต ปัจจุบัน อนาคต “ชุมชนล่ามช้าง” กับการอนุรักษ์ล้านนา

ภูมิภาค
14 ก.พ. 66
13:41
1,284
Logo Thai PBS
อดีต ปัจจุบัน อนาคต “ชุมชนล่ามช้าง” กับการอนุรักษ์ล้านนา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่วัดยังเป็นศูนย์กลางของคนใน “ชุมชนล่ามช้าง” การเกื้อหนุน การร่วมมือ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งและนำสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน บนพื้นฐานการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี
สิ่งที่สำคัญคือ การลงมือทำให้ชาวบ้านเห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เมื่อชาวบ้านเห็นก็จะมีความชื่นชอบ มีความภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัด ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดึงชาวบ้าน ชุมชน เข้ามาอยู่ด้วยกัน

พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่าการดึงชุมชนและวัดเข้ามาอยู่ด้วยกัน ใช้กลไกทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งที่สำคัญคือวิถีชีวิตที่อนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ ซึ่งวัดและชุมชนจะมีกิจกรรมทำร่วมกันตลอดตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงทุกวันนี้ เมื่อทุกคนมาร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะกลายเป็นการรวมกลุ่มกันโดยปริยาย

วัด-ชุมชน อยู่ด้วยกัน

“ชุมชนล่ามช้าง” ชุมชนเก่าแก่ในย่านเมืองเก่า จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ใน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตามตำนานวัดล่ามช้างแห่งนี้ อายุกว่า 700 ปี ที่ตรงนี้เคยเป็นโรงช้างต้นของพญามังรายในสมัยสร้างเมืองเชียงใหม่

ครั้นเมื่อสร้างเมืองเรียบร้อยแล้ว ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ จึงตั้งชื่อว่า “วัดล่ามช้าง” เป็นวัดคู่บารมีช้างพลายมหามงคล

วัด “วัดล่ามช้าง” แห่งนี้อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในชุมชนมีความผูกพันกับวัด และวัดยังเป็นศูนย์กลางและเป็นที่พึ่งให้กับคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนเหมือนคนเป็นไข้ที่เพิ่งฟื้น

เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง เล่าว่า ปัจจุบันเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน วัดเองต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกันกับนักท่องเที่ยว ปรับตัวไปตามยุคตามสมัย และเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นการสร้างมูลค่าให้กับวัด ให้กับชุมชน เป็นการอยู่ด้วยกัน บนพื้นฐานการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี

หลังจากการระบาดของโรคโควิดเริ่มคลี่คลาย ชุมชนกลับกลายเหมือนคนเป็นไข้ ที่เพิ่งเริ่มฟื้น กระบวนการต่างๆ ก็จะกลับไปเหมือนเช่นเดิม การใช้ชีวิตของคนในชุมชน การค้าขาย บรรยากาศเดิมๆ เริ่มกลับมา

วัดเปลี่ยนบริบทช่วยเหลือสังคม

ชุมชนล่ามช้างเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ การเข้ามาของเมืองเชียงใหม่ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยแต่มีคนต่างด้าว กลุ่มชาติพันธุ์ วัดเองก็เปลี่ยนบริบท เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของสังคม หยิบยื่นน้ำใจให้ชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ไปได้ส่วนหนึ่ง

โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงวัดล่ามช้าง ซึ่งทางวัดทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และไม่ได้เพียงช่วยเหลือเฉพาะในชุมชนเท่านั้นแต่ยังกระจายไปยังชุมชนและภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน มาเรียนศิลปะพื้นบ้าน ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเป็นการสร้างอาชีพได้

คนในชุมชนคือแรงขับเคลื่อนอนาคต

เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง กล่าวทิ้งท้ายว่า พยายามรักษาบริบทของวัดของชุมชน ให้อยู่ระดับที่เป็นอยู่ รักษาพื้นที่ รักษาความเป็นชุมชน แต่ทั้งนี้การขับเคลื่อนต้องอาศัยแรงจากชุมชน เพื่อให้ชุมชน ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ อยู่ร่วมกันได้

การร่วมมือของชุมชนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

นายวีระวิทย์ แสงจักร ประธานกลุ่มล่ามช้าง มองว่า การท่องเที่ยวเชียงใหม่ ณ ปัจจุบันดีขึ้นแต่ยังไม่เต็ม 100% การจะทำให้ จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หลายภาคส่วนต้องมีการหารือร่วมกัน ชุมชนล่ามช้างเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนช่วยเหลือกันเองมาตลอด โดยใช้หลักการว่า “บวร” คือ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ที่มีวัดเป็นจุดศูนย์กลางของชาวบ้าน มีกรรมการชุมชนที่จะคอยบริหารจัดการ

นายวีระวิทย์ ยังกล่าวว่า ชุมชนล่ามช้างช่วยเหลือกันเองจนแข็งแกร่งที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของชุมชนเองและยังเป็นโมเดลให้กับชุมชนอื่นๆ ด้วย

คอนเซ็ปต์หลักของชุมชน คือคุณจะทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน ธุรกิจกับชุมชนจึงจะดำเนินต่อไปได้เป็นคู่ขนานจนเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เสน่ห์แห่งย่านเมืองเก่า

ชุมชนล่ามช้าง สามารถเดินเชื่อมกันได้ตั้งแต่ซอย 4 ถึงซอย 9 และภายในซอกซอยต่างๆ เป็นที่ตั้งของร้านอาหาร คาเฟ่ งานศิลปะ รวมถึงที่พักต่างๆ มากมาย

อย่างร้าน Bart coffee ร้านกาแฟเล็กๆ ใต้ต้นมะขาม ผนังที่เต็มไปด้วยลายมือ ลายเซ็น ข้อความจากลูกค้าที่แวะเวียนมาเยือน จนกลายเป็นศิลปะสวยงาม ที่ใครผ่านไปมาต้องถ่ายรูปเช็กอินกัน สำหรับเมนูยอดฮิตคือ Dirty Mocha เป็นกาแฟร้อนที่ผสมนมเย็น 

ส่วนอีกร้านเป็นร้านผ้าพื้นเมือง มีสินค้าหลากหลายรูปแบบ ที่เจ้าของเป็นคนออกแบบและตัดเย็บเอง โดยลูกค้าสามารถสั่งตัดได้ตามแบบที่ชอบและตามไซต์ของลูกค้า

 

"กาดกองเก่า" เสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู่ชุมชน

ประธานชุมชนล่ามช้าง นางน้ำฝน รสจรรยา อายุ 68 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่อาศัยในชุมชนล่ามช้างตั้งแต่เกิด นางน้ำฝนเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ได้พาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เกิดความผูกพันกับวัด และอยากอนุรักษ์ในพุทธศาสนา เนื่องจากวัดเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน

อย่างเช่นการตั้งกาดกองเก่า ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนรวมถึงทางวัดล่ามช้างด้วย คนในชุมชนมีความพร้อมใจ อยากจะอนุรักษ์จารีตประเพณีล้านนาให้สืบไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างกาดกองเก่าขึ้นมา นอกจากต้องการอนุรักษ์จารีตประเพณีแล้ว ยังเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มีการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

"กาดกองเก่า" ฝ่าวิกฤตโควิด

ประธานชุมชนล่ามช้าง กล่าวว่า ถนนคนเดินกาดกองเก่า ตั้งมาประมาณ 6 ปี โดยในช่วง 3 ปีแรกได้รับการตอบรับดีมาก แต่หลังจากเกิดโรคโควิดระบาดกาดกองเก่าเงียบมาก ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ยังมีพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนที่เปิดร้านขายของ คนในชุมชนก็ช่วยกันอุดหนุน เพื่อช่วยกันสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเพื่อต้องการให้ถนนคนเดินมีอยู่ตลอดไป

แม้ว่าในอนาคตโควิดจะกลับมาระบาดอีกครั้ง กาดกองเก่าก็จะยังคงอยู่ต่อไปเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และจารีตประเพณีต่อไป

ในอนาคตเชียงใหม่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ในชุมชนล่ามช้างจะพยายามดูแลให้อยู่ในสภาพเดิมที่จะอนุรักษ์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้เท่าที่จะทำได้ ให้ประเพณีต่างๆ ยังคงอยู่ในชุมชนของเรา ทุกคนช่วยกันดูแลชุมชนให้ดีที่สุด จะทำให้ชุมชนเจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีสืบไป

เดินช็อปสินค้าพื้นเมือง อาหารลำขนาด

ถนนคนเดินกาดกองเก่า เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเสน่ห์อยู่ที่ ผู้คนใจดี แม่ค้า ยิ้มแย้มแจ่มใส สินค้าที่วางขายจะเป็นของพื้นเมือง กับข้าวเมือง นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าพื้นเมือง ของชนเผ่า นอกจากจะเป็นคนในชุมชนแล้ว ยังได้มีการเชิญชวนชุมชนข้างเคียงให้มาร่วมขายของเพื่อความสามัคคี เพื่อให้สิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นกับชุมชน สำหรับกาดกองเก่าจะเปิดทุกวันศุกร์ เวลาตั้งแต่ 16.00 -22.00 น.

พ่อค้าขายสบู่แกะสลัก เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้เริ่มมีรายได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเชียงใหม่มากขึ้น

ขณะที่ แม่ค้าขายผ้าฝ้ายพื้นเมือง บอกว่า เลือกขายที่หาดกองเก่าเนื่องจากเป็นชุมชนเป็นซอยเล็กๆ มีนักท่องเที่ยวเยอะ ซึ่งลูกค้าที่มาซื้อผ้าฝ้ายส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอยากให้เชียงใหม่มีเศรษฐกิจดี ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น รวมถึงต้องการให้มีการปรับปรุงถนนหนทางและฟุตปาธให้เดินทางสะดวกมากขึ้น

ด้านนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เล่าว่าเดินทางมาประเทศไทย 4 วันแล้ว ชอบบรรยากาศ และรู้สึกดีที่ได้มาท่องเที่ยวที่กาดกองเก่า อาหารอร่อยได้เดินเล่นเดินเที่ยว ทุกคนยิ้มแย้มน่ารักมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"

วันนี้ที่ “กาดหลวง” ในวันที่เชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง