3 เหตุผลที่นักเขียนไม่ควรกังวลว่าจะตกงานเพราะ ChatGPT

Logo Thai PBS
3 เหตุผลที่นักเขียนไม่ควรกังวลว่าจะตกงานเพราะ ChatGPT
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขายืนกรานว่า ChatGPT จะไม่แย่งงานของนักเขียนแต่อย่างใด เนื่องจากงานเขียน AI ยังไม่มีความเป็นมนุษย์ ข้อกำหนดเชิงนโยบายจากองค์กรต่าง ๆ และบทบาทที่ไปแนวทางการช่วยมนุษย์มากกว่า

นับตั้งแต่ที่ ChatGPT ซึ่งเป็นแชตบอตที่สามารถรังสรรค์งานเขียนที่มีความซับซ้อนสูงได้ราวกับมนุษย์ ได้เปิดตัวสู่สาธารณชน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ยอดผู้เข้าใช้งานก็ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 100 ล้านคน ในเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากเปิดตัวเท่านั้น ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตนี้รวดเร็วเสียยิ่งกว่าสื่อออนไลน์ยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง Instagram และ Tiktok เสียอีก

นักเขียนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นวงการโทรทัศน์ วงการภาพยนตร์ หรือ ผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ทั้งหลาย จึงได้ออกมาแสดงความกังวลว่าสักวันหนึ่ง ChatGPT จะเข้ามาแย่งหน้าที่การงานของตนไป โดยทาง Buzzfeed บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ก็ได้ปลดพนักงานไปราว 12% แล้ว เนื่องจากบริษัทมีความต้องการที่จะนำ ChatGPT เข้ามาช่วยสร้างคอนเทนต์ ในขณะที่ CNET เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีชื่อดังก็มีการประกาศนำ AI ที่มีความสามารถคล้ายกับ ChatGPT มาช่วยงานเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Alan Jacobson นักวิเคราะห์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กลับมองว่าการที่ ChatGPT จะเข้ามาแทนที่งานนักเขียนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของนักเขียนไปบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายหวาดกลัวต่อ ChatGPT ก็ตาม และนี่คือ 3 เหตุผลที่นักเขียนไม่ควรกังวลว่าจะตกงานเพราะ ChatGPT

1. ChatCPT ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และความเห็นอกเห็นใจเหมือนมนุษย์

Sheeta Verma ที่ปรึกษาด้านการตลาดชื่อดังให้กับบริษัทสตาร์ตอัปในสหรัฐฯ กล่าวต่อสำนักข่าว INSIDER ว่า AI นั้นไม่สามารถเข้ามาแทนที่อาชีพเธอได้ เพราะว่าข้อความที่ถูกสร้างโดย AI นั้นมีรูปแบบการเขียนที่บ่งบอกได้ว่าไม่ได้ถูกคิดโดยมนุษย์ ซึ่งปราศจากความเห็นอกเห็นใจบางอย่าง ในขณะที่นักการตลาดอย่างเธอที่ทำงานมานานหลายปีนั้นรู้ว่าควรรังสรรค์งานเขียนอย่างไรให้มีความสนุกสนาน แปลกใหม่ และดึงดูดผู้คนได้

อีกทั้งเธอยังบอกว่ามีผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปหลายบริษัทติดต่อเธอไปเป็นจำนวนมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ได้ไปว่าจ้างเอเจนซีเข้ามาเขียนเนื้อหาโพรโมตบริษัทของตน แต่กลับกลายเป็นว่าเนื้อหาที่ได้รับมานั้นกลับถูกเขียนโดย ChatGPT ทั้งสิ้น Sheeta Verma จึงต้องเข้ามารับหน้าที่แก้ไขข้อความใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ สิ่งที่ ChatGPT ยังขาดตกบกพร่องไปก็คือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ หรือ การเข้าใจคนอื่น (Empathy) อันเป็นกระบวนการทางอารมณ์ที่เกิดจากลำดับความคิดที่ซับซ้อน โดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อในเรื่องความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ AI จะเข้ามาเติมเต็มงานเขียนที่แสดงอารมณ์ออกมาในส่วนนี้ได้

2. นโยบายกำกับเนื้อหาจาก AI

Google บริษัทผู้ให้บริการในค้นหาเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ตที่มียอดผู้ใช้งานสูงที่สุดในโลกในแต่ละวันนั้นมีนโยบายต่อต้านเนื้อหาที่ถูกเขียนโดย AI มานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งเนื้อหาของ AI นั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสแปมที่ต้องได้รับการลงโทษเช่นกัน โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบ และคุณภาพของงานเขียนแต่อย่างใด

หากเว็บไซต์ไหนละเมิดนโยบายของ Google ผลการแสดงเว็บไซต์ในหน้าต่างค้นหาจะถูกลดอันดับลง หรือไม่ก็ไม่ปรากฏในผลการค้นหาเลย จึงทำให้ ChatGPT ไม่สามารถก้าวเข้ามาแข่งขันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เท่าใดนัก ตราบใดที่ Google ยังคงเป็นผู้ให้บริการยอดนิยมอยู่

3. รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

ถึงแม้ว่าตัว ChatGPT จะสามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่มีความซับซ้อนได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ ChatGPT นั้นกลับยังไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจมากนัก ว่าจะผลิตงานเขียนออกมาอย่างไรให้ธุรกิจนั้น ๆ ได้ผลกำไรสูงสุด ซึ่งต้องใช้ทักษะการวางแผน และ ความเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมในแต่ละช่วงเวลา

เพราะฉะนั้นบุคลากรนักเขียนยังมีความจำเป็นอยู่ในการช่วยกำหนดแนวทางงานเขียนต่าง ๆ ถึงขนาดที่เมื่อทางสำนักข่าว INSIDER ถาม ChatGPT ว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ได้หรือไม่ ChatGPT ก็ได้แสดงความเห็นว่า AI นั้นขาดความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ และความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่จะผลิตเนื้อหางานเขียน ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับผู้อ่านได้

นอกจากนี้ AI ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์ในการตรวจสอบงานเขียนอยู่ดี ว่า มีเนื้อหาเหมาะสมแก่การเผยแพร่หรือไม่ ในตอนนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ChatGPT และ AI ตัวอื่น ๆ ที่มีทักษะคล้ายกัน จะเข้ามาช่วยนักเขียนผลิตผลงานมากกว่าที่จะทำให้นักเขียนตกงาน

ที่มาข้อมูล: INSIDER
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง