ตุรกีพบผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหวติดซากตึกนาน 8 วัน

ต่างประเทศ
15 ก.พ. 66
07:14
5,385
Logo Thai PBS
ตุรกีพบผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหวติดซากตึกนาน 8 วัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ตุรกีและซีเรีย สูงกว่า 40,000 คน ขณะที่ ทีมกู้ภัยตุรกีพบผู้รอดชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 9 คน เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึง 8 วันแล้ว

วันนี้ (15 ก.พ.2566) เจ้าหน้าที่กู้ภัย ปฏิบัติงานท่ามกลางกองซากปรักหักพังของอาคารในจังหวัดฮาทัย พบผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ที่ติดอยู่ในซากอาคารมานานถึง 8 วันเต็ม โดยช่วยเหลือออกมาได้ถึง 2 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งนำผ้าห่มฉุกเฉินคลุมตัวผู้รอดชีวิตท่ามกลางอากาศที่เย็น และจากนั้นจึงมีเสียงปรบมือและโห่ร้องด้วยความดีใจดังขึ้น โดยเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) มีผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือออกจากซากอาคารในตุรกีอย่างน้อย 9 คน

แม้เหตุแผ่นดินไหผ่านมากว่า 200 ชั่วโมง แต่การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ในซากอาคารในลักษณะคล้ายกันนี้ เรียกได้ว่าลดน้อยลงทุกที ท่ามกลางตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวที่สูงขึ้นเกิน 41,000 คนแล้ว โดยในตุรกี พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 35,418 คน ส่วนซีเรียพบไม่ต่ำกว่า 5,800 คน

ท่ามกลางคำเตือนขององค์การสหประชาชาติว่า ช่วงเวลาของภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตในซีเรียกำลังจะจบลง ขณะนี้หัวใจสำคัญของภารกิจบรรเทาทุกข์จากแผ่นดินไหวเริ่มหันไปสู่การจัดหาความช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น

ตุรกีทยอยรื้ออาคารเสียหายจากแผ่นดินไหว

ขณะที่อาคารหลังหนึ่งใน Diyarbakir ทางตอนใต้ของตุรกี พังถล่มลงมาจนเกิดเป็นกลุ่มฝุ่นสีขาวขนาดใหญ่ หลังจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เครนรื้อถอนอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ภารกิจรื้อถอนซากความเสียหายจากแผ่นดินไหวเริ่มต้นขึ้นแล้วในหลายจุด รวมถึงที่ Kahramanmaras ที่มีการนำเครื่องจักรหนักเข้าเตรียมการ

นอกจากนี้ ยังมีการเผยภาพก่อนและหลังแผ่นดินไหวของเมืองคาห์รามานมาราช ซึ่งบันทึกไว้ก่อนแผ่นดินไหวเมื่อปี 2020 ที่มองเห็นอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา ขณะที่อีกภาพหนึ่งซึ่งถ่ายจากจุดเดียวกัน เมื่อวานนี้ แสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทั้งอาคารที่พังถล่ม ทำให้ทัศนวิสัยโดยรวมของเมืองเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ด้านเรเซป ไทยิป เออร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการประชุดนัดแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว

ผู้นำตุรกีย้ำคุมเข้มมาตรฐานสร้างอาคาร

ผู้นำตุรกีเปรียบเทียบแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงเทียบเท่าระเบิดปรมาณู พร้อมระบุว่า สิ่งก่อสร้างนับแสน ๆ แห่งทางตอนใต้ของประเทศไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ซึ่งไม่ว่าประเทศใด ๆ หากเผชิญภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้ ก็ไม่พ้นจะต้องเผชิญปัญหาเดียวกันนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้นำตุรกีกล่าวถึงการบังคับใช้กฎมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร เพื่อความปลอดภัยว่าจำเป็นต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด และอาคารที่พังถล่มจากแผ่นดินไหวเป็นเครื่องเตือนในว่ารัฐบาลต้องคุมเข้มมากขึ้น พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะเดินหน้าภารกิจกู้ภัยจนกว่าจะนำตัวประชาชนคนสุดท้ายออกจากซากอาคารในพื้นที่ประสบภัยได้สำเร็จ

อีกด้านหนึ่งของภารกิจกู้ภัย มีการนำเรือรบมาใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหว จากเมืองท่าอิสกันเดอรุน และพื้นที่โดยรอบ หลังจากโรงพยาบาลในพื้นที่เต็มล้น โดยเรือโรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 300 เตียง พร้อมมีห้องผ่าตัด รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญอื่น ๆ โดยได้รักษาผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 2,000 คน

ผู้ประสบภัยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตหลังแผ่นดินไหว

ขณะที่ปัญหาอีกมุมหนึ่งที่แพทย์ในพื้นที่ประสบภัยเริ่มเผชิญ คือ ปัญหาสุขภาพจิต โดยพบว่า ผู้ประสบภัยจำนวนมากเป็นโรคแพนิค และ PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง จากการติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง หรือจากสิ่งที่เห็นระหว่างเกิดภัยพิบัติ โดยเบื้องต้น องค์การอนามัยโลก เปิดโครงการให้เงินช่วยเหลือ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,460 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ยารักษา การบำบัดจิต และอื่น ๆ แล้ว

ขบวนรถช่วยเหลือยูเอ็นผ่านด่านเปิดใหม่เข้าซีเรีย

ส่วนในฝั่งซีเรีย เริ่มมีความหวังมากขึ้นหลังผ่านเหตุแผ่นดินไหวมาเกิน 1 สัปดาห์ โดยมีขบวนรถที่ขนส่งสิ่งของช่วยเหลือจากตุรกี วิ่งผ่านด่านตรวจพรมแดนเข้าสู่ซีเรีย ผ่านด่าน บับ อัล-ซาลาม ซึ่งเพิ่งจะกลับมาเปิดใช้การให้ขบวนจนส่งความช่วยเหลือของยูเอ็นผ่านได้อีกครั้ง หลังไม่อนุญาตมาตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งส่งผลให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ช่องทางในการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ซีเรีย ในพื้นที่ซึ่งอยู่นอกการปกครองของรัฐบาล เหลือเพียงทางด่าน บับ อัล-ฮาวา ที่เริ่มส่งความช่วยเหลือตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพียงแห่งเดียว จากเดิมซึ่งเคยมีถึง 4 ช่องทาง เมื่อช่วงปี 2014

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลซีเรียได้อนุญาตให้ยูเอ็นใช้การด่านพรมแดนที่ติดกับตุรกีได้เพิ่มเติม 2 ช่องทาง เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจุดผ่านแดนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยตุรกี

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ ยังขอรับความช่วยเหลือเป็นเงิน 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 13,500 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในซีเรีย ซึ่ง กูเตอร์เรสประกาศขอความช่วยเหลือดังกล่าวที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในมหานครนิวยอร์ก เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ช่วยชีวิตชาวซีเรียกว่า 5,000,000 คน ตลอดระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ ยูเอ็นได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือผ่านกองทุนรับมือฉุกเฉินแล้ว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปาฏิหาริย์ กู้ภัยช่วยเด็กติดซากตึกตุรกี 182 ชั่วโมง

ใจฟู! K9 เซียร่า-ซาฮาร่า ปลอบใจเด็กน้อยตุรกี

USAR Thailand ปิดภารกิจในเมืองฮาทาย มุ่งหน้าช่วยเหลือต่อไป

ทั่วโลกร่วมอาลัย "Proteo" ฮีโร่ 4 ขากู้ภัยตายในภารกิจตุรกี

เตรียมนำ 34 คนไทยประสบภัยตุรกีกลับบ้านเกิด 16 ก.พ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง