ต๋ามฮีตโตยฮอยบนถนนสุดฮิป : นิมมานเหมินท์

ไลฟ์สไตล์
15 ก.พ. 66
15:45
326
Logo Thai PBS
ต๋ามฮีตโตยฮอยบนถนนสุดฮิป : นิมมานเหมินท์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้าหันหน้าเข้าดอยสุเทพ จะมีถนนอยู่ 2 เส้นที่มุ่งตรงเข้าดอย เส้นหนึ่งคือ ถ.สุเทพ ส่วนอีกเส้นคือ ถ.ห้วยแก้ว ถนนทั้ง 2 เส้นถูกเชื่อมเข้าหากันด้วย ”ถ.นิมมานเหมินท์” จากการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของต้นตระกูลนิมมานเหมินท์

พื้นที่ว่างเปล่าถูกสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรและมี ถ.นิมมานเหมินท์ ตัดผ่าน เป็นเส้นทางของความเจริญทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจมาบรรจบกัน ขนาดของพื้นที่ที่ไม่ได้กว้างใหญ่ การจัดสรรแบบแปลนของพื้นที่ ที่มีซอยทะลุหากันได้ทั้งหมด จึงทำให้ นิมมานฯ ก่อร่างสร้างความเป็นชุมชนเล็กๆ ขึ้นมาด้วยเวลาไม่นาน และต่อยอด พัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

นิมมานเหมินท์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของการทำศิลปะ มีศิลปินวาดเขียน สร้างสรรค์งานศิลปะมากมาย โดยเฉพาะ นิมมานเหมินท์ ซ.1 ที่ถือว่าเป็นหน้าบ้านของชุมชนนิมมานเหมินท์

เหล่าศิลปินรวมตัวกันในซอย 1 จนวันหนึ่งเกิดการรวมกลุ่ม จัดแสดงผลงานทางศิลปะ “Nimmanhaemin Art & Design Promenade” หรืองาน NAP จนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชุมชนนิมมานฯ ที่ต้องจัดงาน NAP ขึ้นทุกปี

เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น “คน” ก็เริ่มเดินทางเข้ามามากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ก็ตามมา เริ่มต้นจากธุรกิจร้านกาแฟที่ต่อยอดจากศิลปินบริเวณ ซ.1 ที่เปิดร้านเพื่อหารายได้เช่าที่เพื่อเปิดแกลอรี่แสดงผลงาน จนเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการอีกมากมายที่ต้องการหารายได้

ช่วงนั้น ร้านกาแฟในนิมมานฯ ค่อนข้างจะมีคอนเซปต์ชีคๆ ชิลๆ อยู่บ้าง เพราะเจ้าของร้านก็เป็นพวกศิลปิน

อดีตเจ้าของร้านกาแฟที่เคยเปิดร้านบริเวณ นิมมานฯ ซ.1 เล่าย้อนอดีต ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซอยเล็กๆ ของชุมชนนิมมานฯ

แต่พอมีนายทุนจากที่อื่นเข้ามา ร้านที่ขายกันชิลๆ ราคาย่อมเยาก็เริ่มอยู่ไม่ได้ เจ้าของที่ก็อยากได้ค่าเช่าที่เพิ่ม เพราะมีคนมาเสนอราคาที่สูงกว่า ร้านเก่าๆ ก็ถูกเปลี่ยนมือไป กลายเป็นร้านค้าเพื่อธุรกิจ 100% ไม่หลงเหลือความบ้านๆ ไว้อีกเลย

เสน่ห์ถูกแทนที่ด้วยเศรษฐกิจ

เมื่อนิมมานฯ เริ่มโต คนในเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มกระจายตัวเข้าสู่นิมมานฯ มากขึ้น ประกอบกับสถาบันการศึกษาที่อยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก ถ.นิมมานเหมินท์ จึงกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขึ้นมา เสน่ห์ของชุมชนศิลปะเริ่มหายไป และถูกแทนที่ด้วยธุรกิจต่างๆ

ยิ่งมีสถานบันเทิงมาเปิด ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ นิมมานฯ ต้องทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมง ผู้ประกอบการที่เช่าที่ ต้องหาทางให้ร้านเช่าของตัวเองทำเงินให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อรายได้ที่มากขึ้น แต่เพราะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเสียมากกว่า “กลางวันเปิดคาเฟ่ กลางคืนเปิดผับบาร์”

นิมมานฯ กับการถูกกลืน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมธนารักษ์ ประเมินราคาที่ดินบริเวณนิมมานเหมินท์ ติด 1 ใน 5 ที่ดินที่แพงที่สุดของเชียงใหม่มาโดยตลอด ในปี พ.ศ.2562 ราคาที่ดินย่านนิมมานฯ อยู่ที่ ตารางวาละ 180,000 บาท หรือ ไร่ละ 72 ล้านบาท

เห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ ค่อยๆ กลืนกินเสน่ห์ของเมืองไป เจ้าของที่หลายคนเลือกจะเปลี่ยนบ้านให้เป็นร้าน ส่วนอีกหลายคนเลือกขายที่ทิ้งเพราะทนกับความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวและร้านค้าละแวกใกล้เคียงไม่ไหว แต่ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยแต่ดั้งเดิม ก็พยายามรวมตัวกัน ผลักดันให้มีการจัดระเบียบให้กับ นิมมานฯ


ครั้งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยว นิมมานฯ เพราะอยากสัมผัสกับศิลปะล้านนาแต่ละยุคสมัย การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านดนตรี ผืนผ้าใบ เสื้อผ้า และร้านกาแฟ แต่เมื่อกลุ่มทุนเข้ามา และเข้ามามากอย่างไม่มีอะไรปิดกั้น นิมมานฯ กลับสูญเสียเสน่ห์เหล่านั้นไปแทบทั้งสิ้น ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาแล้วจะไม่ได้เห็นความชีค ความฮิปสเตอร์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของนิมมานฯ แต่ผู้ประกอบการเองที่ไม่ใช่คนในชุมชน หรือไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็ไม่ได้สัมผัสหรือถ่ายทอดวิถีนิมมานฯ ได้อีกเช่นกัน

โควิดทำให้นิมมานฯ ป่วย

นิมมานฯ เองก็ไม่ต่างกับทุกที่ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แทบทุกร้านในพื้นที่สุดชีคแห่งนี้ต้องปิดตัวลง ไม่มีใครคิดว่าชุมชนที่เปิดแทบจะ 24 ชั่วโมงจะกลายเป็นสถานที่ที่เงียบ ไร้ซึ่งผู้คนพลุกพล่านเดินไปมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาด ผู้ประกอบการต่างบอกว่า หากเปรียบเทียบสมัยที่โควิด-19 ระบาดหนักก็เหมือนตัวเองนอนป่วยในห้อง ICU แบบที่ไม่มีหมอหรือพยาบาลมาช่วย

แต่เมื่อทุกอย่างดีขึ้น หลายมาตรการคลายล็อก ประเทศเปิด นักท่องเที่ยวมา นิมมานฯ ตอนนี้เริ่มหายป่วย ดีขึ้นบ้างแล้ว

ถ้าขาหัก ก็ถอดเฝือกแล้ว แต่ก็ต้องฝึกเดินอีกหน่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปบ้าง

แม่ค้าร้านขนม ย่านนิมมานฯ คนหนึ่งอธิบายจนเห็นภาพชัดยิ่งกว่าตอนเชียงใหม่ไม่มี PM2.5 เสียอีก

นิมมานเหมินท์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นสถานที่ที่ทำให้เห็นวัฒนธรรม เรื่องราวในอดีตของเชียงใหม่ที่ผ่านมา จากการบริจาคที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ สู่การเป็นพื้นที่ศิลปะ สร้างวัฒนธรรม จนกระทั่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเชียงใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันที่ผ่านไป ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะ ครั้นจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ นิมมานฯ เปลี่ยนไป ผู้ร้ายคือกลุ่มทุนที่เข้ามาก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว หากแต่ถ้ายังหวังให้นิมมานฯ คงเสน่ห์ของความเป็นถนนสุดฮิป ติดลมบนสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงใหม่เหมือนช่วง 20-30 ปีก่อน ก็คงต้องช่วยปลุกเสน่ห์ที่ถูกกลืนไปของ “นิมมานเหมินท์” ให้กลับมา

 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

อดีต ปัจจุบัน อนาคต “ชุมชนล่ามช้าง” กับการอนุรักษ์ล้านนา

วันนี้ที่ “กาดหลวง” ในวันที่เชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม

เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง