สธ.เฝ้าระวัง "ไวรัสมาร์บวร์ก" เข้มคัดกรองคนมาจากประเทศที่มีการระบาด

สังคม
20 ก.พ. 66
16:21
532
Logo Thai PBS
สธ.เฝ้าระวัง "ไวรัสมาร์บวร์ก" เข้มคัดกรองคนมาจากประเทศที่มีการระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค "ไวรัสมาร์บวร์ก" ในแอฟริกา อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง กำชับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางทุกคนที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง

วันนี้ (20 ก.พ.2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลไวรัสมาร์บวร์กที่หลายประเทศกำลังเฝ้าระวังว่า “โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก มีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค ถูกตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์กในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก

การติดเชื้อในคนเริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา

ไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) จากการระบาดครั้งแรกในเมืองมาร์บวร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้งเมืองเบลเกรดในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศยูกันดา หลังจากนั้นพบผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กเพิ่มประปราย ประเทศที่เคยพบการระบาดของโรค ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา เคนยา ยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สำหรับในทวีปยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งคนในสหรัฐฯ หลังจากกลับจากการสำรวจถ้ำในประเทศยูกันดา

นาพ.ธเรศ กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.2566 องค์การอนามัยโลก รายงานพบการระบาดของโรคนี้ที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ประเทศในภูมิภาคตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นโรคระบาดร้ายแรง โดยพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ 25 คน เสียชีวิต 9 คน ผู้ป่วยมีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย ได้มีการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 200 คน

นอกจากนี้ยังมีรายงานพบผู้ป่วยสงสัย 2 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 42 คน ที่ชุมชนโอลัมเซ บริเวณชายแดนประเทศแคเมอรูน พื้นที่ติดกับอิเควทอเรียลกินี เป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน อายุ 16 ปี ซึ่งไม่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี สำหรับประเทศไทยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แม้ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยมาก่อน

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน

หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยส่งตรวจใน 3 ชั่วโมง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางทุกคนที่มาจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศแคเมอรูนที่มีรายงานพบผู้ป่วย พร้อมเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง ตลอดจนแจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

และหากพบผู้ป่วยสงสัยให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง และหากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรการสาธารณสุขใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกันกับโรคอีโบลา

เช็กวิธีป้องกัน-ลดเสี่ยงติดเชื้อ

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนี้

  • ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกากลางหรือประเทศที่กำลังมีการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์รังโรค ควรล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้มีอาการป่วย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือผู้สงสัยติดเชื้อโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน
  • สถานพยาบาล ควรมีการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในผู้ป่วยในผู้มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่พบการระบาด และพิจารณาส่งตรวจหาเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง
  • หากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง