อุตุฯ ประกาศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน 5 มี.ค. คาดร้อนกว่าปีที่แล้ว

สังคม
3 มี.ค. 66
11:04
2,642
Logo Thai PBS
อุตุฯ ประกาศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน 5 มี.ค. คาดร้อนกว่าปีที่แล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2566 เริ่มต้น 5 มี.ค. สิ้นสุดช่วงกลาง พ.ค.2566 คาดปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และ แม่ฮ่องสอน ร้อนที่สุด อุณหภูมิสูง 40-43 องศา

วันนี้ (3 มี.ค.2566) น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลง “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566” ว่าประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในวันที่ 5 มี.ค. 2566 ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูร้อน 2 องค์ประกอบ ได้แก่

1) ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้

2) พื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียส ขึ้นไป จากนั้นจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน พ.ค.2566 โดยปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว จังหวัดที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 องศาเซลเซียสได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศาเซลเซียส

น.ส.ชมภารี กล่าวต่อว่าจากคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือน มี.ค.2566 จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนา โดยที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า

จากนั้นจนถึงปลายเดือน เม.ย. อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป รวมทั้งมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40-43 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้อาจเกิดพายุฤดูร้อน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้

ส่วนในช่วงปลายเดือน เม.ย. ถึงกลางเดือน พ.ค.ที่เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วงกับจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับทางด้านภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณปลายเดือนมี.ค. ถึง ปลายเดือน เม.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยสูง 1-2 เมตร

จากนั้นจนถึงกลางเดือน พ.ค. จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในบางช่วงอาจสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากปลายฤดูหนาวไปต้นฤดูร้อน (ปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศประเทศไทยที่เริ่มร้อนขึ้น

ต่อมาในช่วงกลางฤดูร้อน (กลาง มี.ค.-เม.ย.) ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับกับมวลอากาศเย็นจาก ประเทศจีน และลมที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยนี้ก็จะส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันแรก ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีผลกระทบในวันถัดไป

ช่วงท้ายของการแถลง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยคาดการณ์ปริมาณฝนในปี 2566 โดยกล่าวว่า ปีนี้กรมอุตุฯ คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือน มิ.ย. และต้นเดือน ก.ค. ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องเกษตรกรวางแผนรับมือกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เพาะปลูกและติดตามคาดหมายสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่องไว้ด้วย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง