บทวิเคราะห์ : จับตาอิหร่านพร้อมผลิตระเบิดนิวเคลียร์?

ต่างประเทศ
3 มี.ค. 66
12:33
1,495
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : จับตาอิหร่านพร้อมผลิตระเบิดนิวเคลียร์?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทั่วโลกกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของอิหร่านอย่างใกล้ชิด หลังจากมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องถึงการพัฒนาศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ ข่าวล่าสุดที่ชี้ว่าอิหร่านอาจผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ นับว่าสร้างความกังวลอย่างมากแก่ชาติตะวันตก

หากเป็นจริงอย่างที่สหรัฐฯ กล่าวหา โลกของเราอาจจะได้เห็นชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มอีก 1 ประเทศ เพราะตอนนี้นอกจากจะเสริมสมรรถนะ ยูเรเนียมได้ถึงร้อยละ 83.7 ใกล้เคียงกับระดับที่ใช้ผลิตระเบิดแล้ว อิหร่านยังสามารถสร้างวัสดุฟิสไซล์สำหรับผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก ได้ภายในเวลาเพียง 12 วัน

2 ปีมาแล้วที่อิหร่านเดินหน้าเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดในข้อตกลงนิวเคลียร์ JCPOA อย่างเปิดเผยมาโดยตลอด หลังรัฐบาลสหรัฐฯ​ ภายใต้การนำของอดีต ปธน.โดนัลด์​ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ไปเมื่อปี 2018 แต่พัฒนาการล่าสุดที่ทั่วโลกจับตามองคือการย่นระยะเวลาการผลิต ระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกลงเหลือเพียง 12 วันเท่านั้น

ข้อมูลนี้เปิดเผยโดย Colin Kahl ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ตอบคำถามต่อ ส.ส.รีพับลิกันถึงเหตุผลที่ว่าทำไมสหรัฐฯ​ จึงอยากจะกลับไปเข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอีกครั้ง โดยเขาระบุว่าพัฒนาการของโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นไปอย่างน่าทึ่ง

โดยเมื่อปี 2018 อิหร่านอาจต้องใช้เวลาถึง 12 เดือน ในการสร้างวัสดุฟิสไซล์เพียงพอสำหรับผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก แต่ตอนนี้ สามารถผลิตได้ใน 12 วันเท่านั้น รวดเร็วกว่าเมื่อปีที่แล้วที่ประเมินว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์​

วัสดุฟิสไซล์คือวัสดุที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อเนื่องได้ สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์​ หรือสร้างวัตถุระเบิดที่มีพลังทำลายล้างมหาศาลก็ได้เช่นกัน

วัสดุฟิสไซล์ที่นิยมใช้มากที่สุดชนิดหนึ่ง คือยูเรเนียม-235 ซึ่งการจะนำมาใช้ประโยชน์ จะต้องผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะ ด้วยการหมุนเหวี่ยงแยกยูเรเนียม เพราะแร่ยูเรเนียมในธรรมชาติ ประกอบไปด้วยยูเรเนียม-238 ถึงร้อยละ 99.3 ขณะที่ยูเรเนียม-235 มีเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น

ยูเรเนียม-235 ที่เสริมสมรรถนะร้อยละ 3-5 เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในเตาปฏิกรณ์เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และนอกจากนี้ยังมีการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมถึงร้อยละ 20 เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย แต่ยูเรเนียมที่จะนำมาทำระเบิดได้จะต้องผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะถึงร้อยละ 90 ซึ่งล่าสุด รายงานของผู้ตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ระบุว่าพบอนุภาคยูเรเนียมเสริมสมรรถนะถึงร้อยละ 83.7 ใกล้กับสถานที่พัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน


ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยออกมาระหว่างที่อิหร่านจัดการซ้อมรบที่จัดขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสื่ออิหร่านรายงานว่า การซ้อมปฏิบัติการป้องกันการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ จำลองการรับมือการโจมตีสถานที่พัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน และซ้อมยิงขีปนาวุธตอบโต้เครื่องบินขับไล่ของศัตรู

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อิหร่านเพิ่งจะยืนยันว่าไม่ได้พยายามเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินร้อยละ 60 แต่อย่างใด

แม้อิหร่านจะยืนยันมาโดยตลอดว่าการพัฒนานิวเคลียร์เป็นไปโดยสันติ แต่การพบยูเรเนียมที่ความเข้มข้นระดับใกล้เคียงกับที่จะใช้ทำระเบิด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า อิหร่านจะพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ 

ปัจจุบันโลกมีประเทศที่ถือครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ 9 ประเทศ จากข้อมูลเมื่อต้นปี 2022 รวมแล้วทั่วโลกคาดว่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 12,700 หัวรบ ขณะที่ร้อยละ 90 ของทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของสหรัฐฯ ​และรัสเซีย
แต่พัฒนาการของอิหร่านครั้งนี้ทำให้ถูกจับตามองว่าโลกเรากำลังจะมีชาติที่ครอบครองนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกประเทศหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า สำหรับตอนนี้ อิหร่านต้องการเตรียมพร้อมองค์ประกอบต่างๆ ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ไว้ก่อน แต่ยังไม่ข้ามเส้นไปถึงการติดอาวุธอย่างเต็มตัว เพียงแค่พร้อมจะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ทุกเมื่อหากจำเป็น และใช้เวลาอันสั้นจนเป็นความท้าทายของนานาชาติในการพยายามยับยั้ง เพราะท้ายที่สุดแล้วดูจะไม่ใช่เรื่องยากเลยที่อิหร่านจะข้ามเส้นการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้ได้เกินร้อยละ 90 สำหรับการผลิตระเบิดนิวเคลียร์

วิเคราะห์โดย วนิษฐา จิตกรี

อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่ม : 

จำคุก 30 ปี! อดีตทนายความสหรัฐฯ ฆาตกรรมครอบครัว

ปัญหาเงินเฟ้อและขาดแคลนอาหารในอังกฤษ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง