บทวิเคราะห์ : แบ่งเขต “เพิ่ม-ลด” ส.ส.ใหม่ล้วนต้องแข่งเข้มข้น

การเมือง
4 มี.ค. 66
20:30
389
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : แบ่งเขต “เพิ่ม-ลด” ส.ส.ใหม่ล้วนต้องแข่งเข้มข้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นไปตามความเห็นและคาดหวังของผู้คนส่วนใหญ่ เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ไม่ควรนับรวมคนต่างด้าวที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย กว่า 8 แสนคน นับรวมเข้าไปด้วย ตามประกาศของกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เมื่อปลายเดือนมกราคม 66

แม้ว่า กกต.จะอ้างว่า ที่ผ่านมาการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ก็อิงอยู่กับจำนวนราษฎร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. รวมทั้งกูรูการเมืองอีกหลายคน ย้อนแย้งแนวทางของกกต. และแนะให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน ป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง

เมื่อกกต.ยอมกลับคำยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจที่ออกมา ระบุชัดว่า ไม่ให้คิดจำนวนคนต่างด้าวรวมเข้าไปด้วย ทำให้ กกต.ต้องออกประกาศยกเลิกคำสั่งเดิม และออกคำสั่งใหม่ เมื่อ 3 มีนาคม 2566 ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. รวม 400 เขต

ทั้งนี้ จำนวนประชากรคนไทย โดยไม่รวมคนต่างด้าวตามประกาศใหม่ของ กกต.จะมีรวม 65,106,481 คน เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวน ส.ส. 400 คน ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประชากร 162,766 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

ส่งผลให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัด มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่เฉพาะที่มีการเพิ่ม-ลดจำนวนส.ส. มีใน 8 จังหวัด เท่านั้น โดยจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช มี ส.ส.เพิ่มเป็น 10 คน จ.อุดรธานี เพิ่มเป็น 10 คน จ.ลพบุรี เพิ่มเป็น 5 คน และ จ.ปัตตานี เพิ่มเป็น 5 คน

ส่วนจังหวัดที่มี ส.ส.ลดลง 1 คน มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ มี ส.ส.รวม 10 คน จ.เชียงราย 7 คน จ.ตาก มี ส.ส.3 คน และ จ.สมุทรสาคร มี ส.ส.3 คน

การเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ใน 8 จังหวัด เลี่ยงไม่พ้นที่จะมีผลต่อพรรคการเมืองที่ได้เตรียมส่งผู้สมัครส.ส.ในจังหวัดดังกล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดที่จำนวน ส.ส.ลดลง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัครกันใหม่ และต้องเกิดปัญหากับผู้สมัครที่จะถูกพรรคตัดออก

บางพรรคอาจหาทางออกโดยโยกไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ที่อาจวางตัวผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้แล้ว ก็ยังจะมีผลกระทบอยู่ดี

เดิมทีพรรคเพื่อไทยถูกจับตาว่า การเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขตอาจมีผลต่อเป้าหมาย”แลนด์สไลด์” เพราะจะได้จำนวน ส.ส.เขตลดลง แต่เมื่อดูจากจังหวัดที่มี ส.ส.เพิ่มขึ้น เช่น จ.อุดรธานี และ จ.ลพบุรี ก็เป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสได้ ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี โดยเฉพาะ จ.อุดรธานี ถือเป็นเมืองหลวงในภาคอีสานของพรรคก็ว่าได้

แต่ที่น่าจะทำให้การแย่งชิง ส.ส.เข้มข้นขึ้น น่าจะเป็นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะเป็นพื้นที่เลือกตั้ง ที่จะมีพรรคการเมืองใหญ่แข่งขันอย่างดุเดือดอยู่แล้ว ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมทั้งพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ จ.ปัตตานี หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายพรรคการเมืองก็หวังปักธง ส.ส.เต็มที่ รวมทั้งพรรคประชาชาติ ของกลุ่มวาดะห์ (ในอดีต) ที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในการเลือกตั้งปี 2562

ความจริง ไม่ใช่เฉพาะแค่ 8 จังหวัด ที่มีจำนวนส.ส.เพิ่มและลดลงเท่านั้นที่การแข่งขันจะเข้มข้นแบบไม่มีใครยอมใคร แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ที่จำนวน ส.ส.เท่าเดิม ก็จะดุเดือดไม่แพ้กัน

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง