บทวิเคราะห์ : จับตาสถานการณ์การค้ามนุษย์ยุคหลังโควิด-19

ต่างประเทศ
7 มี.ค. 66
13:07
1,062
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : จับตาสถานการณ์การค้ามนุษย์ยุคหลังโควิด-19
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจไปทำงานต่างแดน เพื่อโอกาสและรายได้ที่ดีกว่า กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงและแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเดินทางที่ง่ายขึ้น ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเห็นคนเดินทางไปทำงานต่างแดนแบบผิดกฎหมายมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงไทยที่เป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของเส้นทางค้ามนุษย์

หนึ่งในตัวชี้วัดสถานการณ์การค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศที่พูดถึงกันทุกปี คือ รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

รายงานฉบับนี้จัดระดับสถานการณ์เป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่ "เทียร์ 1" ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ไปจนถึง "เทียร์ 3" ซึ่งในภาพรวมของอาเซียน มีกระจายอยู่ครบทุกกลุ่ม แต่ 5 ประเทศจากทั้งหมด 10 ชาติสมาชิกอาเซียน อยู่ในกลุ่ม "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่และไม่ได้พยายามที่จะทำอย่างมีนัยสำคัญด้วย

กัมพูชา สถานการณ์ไม่ได้ต่างจากไทยมากนัก ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหา scamming หรือการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

ยกตัวอย่างเคสชายชาวจีน วัย 34 ปี เดิมเป็นคนงานก่อสร้าง แต่พิษโควิด-19 ทำให้ไม่มีงานทำ ก่อนที่จะหลงเชื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกว่าหาคนมาทำงานก่อสร้างที่สีหนุวิลล์ แต่เมื่อมาจริงๆ กลับถูกบังคับให้สร้าง profile ปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น facebook และ TikTok เพื่อหลอกคนมาลงทุนในคริปโต

เขาต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมง และถ้าไม่ยอมทำ หรือพยายามหนี ก็จะถูกทุบตีอย่างรุนแรงจนเป็นแผล ชายคนนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในกลุ่มที่หนีออกมาได้ แต่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติประเมินว่ายังมีอีกหลายพันคน หรือเป็นหมื่นๆ คนที่กำลังเผชิญชะตากรรมเลวร้าย ทั้งถูกกักขัง ทุบตี ไม่ให้กินอาหารและถูกขายต่อ

หันมาดูปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยกันบ้าง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในไทยขึ้นๆ ลงๆ ตลอด อย่างปี 2014 และ 2015 เราเคยถูกลดลงไปอยู่ "เทียร์ 3" ต่ำสุด จากปัญหาการบังคับใช้แรงงานทาสและค้าบริการทางเพศ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเอาเปรียบผู้อพยพชาวโรฮิงญา

การปรับลดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประมง ก่อนที่รัฐบาลไทยจะพยายามปรับปรุงทั้งในด้านการดำเนินคดี การคุ้มครองและการป้องกันการค้ามนุษย์

โดยเฉพาะที่น่าจับตามอง คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมื่อปีที่แล้ว เราถูกเลื่อนระดับขึ้นมาอยู่ "เทียร์ 2" ในที่สุด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยพีบีเอสได้มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และบาห์เรน ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่จากประเทศไทยที่นำโดยนายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยรองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

คณะเจ้าหน้าที่ได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกระชับความร่วมมือกับชุมชนไทยและแรงงานไทยในทั้ง 2 ประเทศ เพื่อยกระดับการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน รวมทั้งสนับสนุนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้วย เพราะยูเออีและบาห์เรนเข้าข่ายเป็นประเทศที่มีคนไทยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มากที่สุด 2 อันดับแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ข้อมูลจากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่แตกต่างกันใน 2 ภูมิภาค โดยสำหรับอาเซียนแล้ว ไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่ปลายทางการค้ามนุษย์ที่คนชาติอื่นๆ ถูกหลอกเข้ามาทำงานที่นี่เท่านั้น

แต่เรายังเป็นทั้งต้นทางที่มีคนไทยถูกหลอกออกไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นทางผ่านของประเทศอื่นๆ ด้วย

ผู้เสียหายในแถบนี้มักจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะสามารถลักลอบเข้าประเทศได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีพรมแดนติดกัน แต่การไปตะวันออกกลางต้องขึ้นเครื่องบิน ทำให้การออกนอกประเทศยุ่งยาก ผู้เสียหายจึงมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อค้าประเวณีและมีจำนวนไม่มากเท่าในอาเซียน ขณะที่ปัจจุบัน พบเหยื่อถูกหลอกทางสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น scammer หรือ call center ต่างๆ

รูปแบบปัญหาและบริบทที่ต่างกันทำให้การรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์ในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งก็ต้องมีการบูรณาการรอบด้าน ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคประชาชนโดยเฉพาะคนที่อยากไปแสวงหาโอกาสในต่างแดนก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ระมัดระวังและรอบคอบอยู่เสมอ รวมทั้งต้องไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ปัจจุบัน ปัญหาการค้ามนุษย์เริ่มกลับมารุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง แม้จะยังไม่มากเท่ากับยุคก่อนโควิด-19 ก็ตาม แต่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ การหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านปราบปรามและป้องกันการค้ามนุษย์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีจำนวนมากขึ้นจริงๆ ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและถูกหลอกได้ง่ายด้วย

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงษ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง