"โซลาร์เซลล์ล่องหน" ในอิตาลี ไอเดียรักษ์โลกที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรม

Logo Thai PBS
"โซลาร์เซลล์ล่องหน" ในอิตาลี ไอเดียรักษ์โลกที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทอิตาลี พัฒนาการติดตั้ง "โซลาร์เซลล์ล่องหน" ให้กลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมโบราณได้อย่างแนบเนียน เพื่อรักษาความงามของสถาปัตยกรรมและรักษ์โลกไปพร้อมกัน

อิตาลี ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่โด่งดังเรื่องความงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกต่างอยากไปชื่นชมให้เห็นกับตาตัวเองสักครั้ง ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย ทำให้จำเป็นต้องมีการบูรณะซ่อมแซมอาคารสถาปัตยกรรมต่าง ๆ โดยได้มีการเพิ่มเติมเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยเข้าไป ก็ต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องหรือกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เพื่อคงความสวยงามของสถาปัตยกรรมต้นแบบเหล่านั้นไว้ โดยไม่ให้บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม

บริษัทในอิตาลี จึงพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ล่องหนเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยออกแบบแผงโซลาเซลล์ให้มีลักษณะคล้ายกับกระเบื้องดินเผาที่มักพบบริเวณอาคารต่าง ๆ ของประเทศอิตาลี ซึ่งการพัฒนาโซลาร์เซลล์ล่องหนนั้นยังมีคุณค่าต่อการพัฒนาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อย่างยั่งยืนอีกด้วย

เมื่อปี 2019 ได้มีการติดตั้ง "โซลาร์เซลล์ล่องหน" ที่เมืองปอมเปอี ซึ่งเมื่อนำโซลาร์เซลล์ล่องหนไปติดแล้วพบว่ามีความกลมกลืนกับหลังคาดั้งเดิม แบบที่ดูไม่ออกเลยว่ามีการติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่ โดยโซลาร์เซลล์ล่องหนมีลักษณะเป็นกระเบื้องหลังคาสองชั้น ชั้นล่างจะประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ธรรมดา ส่วนชั้นบนจะหุ้มด้วยพอลิเมอร์ ที่มีสีเหมือนกับกระเบื้องของหลังคาต้นแบบ ซึ่งคุณสมบัติของพอลิเมอร์จะปล่อยให้แสงแดดเข้ามาสร้างพลังงานได้ แม้ว่าจะถูกหุ้มด้วยหลังคาอีกชั้นก็ตาม

แผงโซลาร์เซลล์ล่องหนสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานได้ประมาณ 25% ซึ่งหากเทียบกับโซลาร์เซลล์ธรรมดาอาจไม่ได้ผลิตได้มากมายนัก แต่ก็พอที่จะช่วยนำพลังงานสะอาดมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไว้ใช้ได้ และยังช่วยรักษาทัศนียภาพ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไปพร้อม ๆ กัน

ปัจจุบันบริษัทกำลังทดลองระบบที่คล้ายกันกับวัสดุอื่น ๆ เช่น หิน ไม้ หรือคอนกรีต เพื่อนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้กับสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ทั่วโลกต่อไป แผงโซลาร์เซลล์ล่องหนจึงถือเป็นไอเดียรักษ์โลก พร้อมรักษาความงามของสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมไปด้วยกัน

ที่มาข้อมูล: dyaqua, fastcompany, dezeen, theartnewspaper
ที่มาภาพ: dyaqua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง