วันนี้ (12 มี.ค.2566) กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้เร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหากสถานการณ์ไม่ลดลง ให้จัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ให้ยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ตามมาตรการที่ 1 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อควบคุมปริมาณ PM 2.5 ให้ลดลงหรือคงอยู่ในระดับคงที่
ระดับที่ 2 เมื่อ PM 2.5 ระหว่าง 51 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่าง ๆ เข้มงวดขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนการปฏิบัติ
ระดับที่ 3 : PM 2.5 ระหว่าง 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมีคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งหากปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นละอองยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ระดับที่ 4 : PM 2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และดำเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
แท็กที่เกี่ยวข้อง: