พบขยะพลาสติกนับร้อยชิ้น ในกระเพาะอาหาร "นกป่า" บนเกาะห่างไกลของออสเตรเลีย

Logo Thai PBS
พบขยะพลาสติกนับร้อยชิ้น ในกระเพาะอาหาร "นกป่า" บนเกาะห่างไกลของออสเตรเลีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทย์พบ "นกป่า" บนเกาะห่างไกลในออสเตรเลีย กินอาหารปนเปื้อนพลาสติกจนเป็นแผลในทางเดินอาหารเรื้อรัง พร้อมตั้งชื่อโรคให้ใหม่ว่า "พลาสติกโคซิส"

ณ สถานที่ห่างไกลผู้คนอย่างเกาะ Lord Howe ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกห่างจากชายฝั่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย กว่า 600 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ประชากร "นกป่า" ที่อาศัยอยู่ในเกาะกว่าร้อยละ 90 ป่วยเป็นโรคทางเดินอาหารเรื้อรังอย่างแปลกประหลาด

โดยนกหลายตัวแสดงอาการป่วย บินไม่ได้ กินไม่ลง จนกระทั่งทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Adrift Lab ได้ตัดสินใจการุณยฆาตนกที่มีอาการป่วยหนัก ซึ่งผลการชันสูตรซากนกพบว่า นกแต่ละตัวมีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กและใหญ่ติดอยู่ในกระเพาะอาหารหลักสิบไปจนถึงหลักร้อยชิ้น

มิหนำซ้ำเมื่อทีมนักวิจัยนำนกป่าตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่ภายนอกดูไม่มีอาการป่วยเข้าเครื่องซีที สแกน พวกเขาจึงพบว่าภายในทางเดินอาหารของนกป่าเหล่านี้เต็มไปด้วยเศษซากพลาสติก ขณะที่ระบบทางเดินอาหารมีแผลเรื้อรัง ซึ่งเป็นแผลมีลักษณะจำเพาะที่เกิดจากการบาดและเสียดสีของพลาสติกเท่านั้น โดยมีความแตกต่างจากแผลอื่น ๆ ที่เกิดจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หิน ที่นกกินเข้าไปอย่างชัดเจน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงตั้งจัดประเภทโรคนี้ขึ้นมาใหม่ว่าชื่อโรค "พลาสติกโคซิส" (Plasticosis) ซึ่งก็คือโรคที่พลาสติกทำให้เกิดบาดแผลเรื้อรังในทางเดินอาหารของนก โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อนในกระเพาะอาหารที่เกิดบาดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นแผลรุนแรงขนาดใหญ่ จนกระทั่งต่อมผลิตน้ำย่อยในกระเพาะอาหารถูกทำลาย ทำให้นกป่าสูญเสียความสามารถในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารในที่สุด

ที่มาข้อมูล: ABC News , Adrift Lab
ที่มาภาพ: AFP
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง