นักวิทย์สร้างลูกหนูที่เกิดจากการผสมเทียมหนูเพศผู้ 2 ตัว ได้สำเร็จ

Logo Thai PBS
นักวิทย์สร้างลูกหนูที่เกิดจากการผสมเทียมหนูเพศผู้ 2 ตัว ได้สำเร็จ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทย์ญี่ปุ่นผสมเทียมหนูที่มีกรรมพันธุ์ตรงตามหนูเพศผู้ 2 ตัวทุกประการ อาจเปิดทางให้คู่รักเพศเดียวกันมีบุตรที่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดร่วมกันได้ในอนาคต

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์เทียมหนูที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ของหนูเพศผู้สองตัว และยังสามารถให้กำเนิดหนูรุ่นลูกที่มีพันธุกรรมตรงตามคู่เพศผู้ทุกประการ ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คู่รักเพศเดียวกันของมนุษย์ว่า อาจมีบุตรที่มีสายเลือดร่วมกันได้ในอนาคต

โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ได้ใช้วิธีการทางพันธุกรรมศาสตร์แบบใหม่ที่เรียกว่า "in vitro gametogenesis (IVG)" เพื่อสร้างไข่และตัวอสุจิจำลองจากเซลล์ผิวหนังของหนู ซึ่งจะถูกนำไปผสมเทียมในหลอดทดลองภายหลัง และเมื่อนักวิทย์ได้ตัวอ่อนของลูกหนูเรียบร้อย พวกเขาก็จะนำตัวอ่อนนี้ไปให้หนูเพศเมียอุ้มบุญ เพื่อเลี้ยงดูในครรภ์และให้กำเนิดลูกหนูออกมาในที่สุด

แต่ถึงแม้ว่างานวิจัยนี้จะให้ความหวังกับคู่รักเพศเดียวมากแค่ไหน การที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับมนุษย์ได้นั้นก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากกระบวนการนำเซลล์ผิวหนังของมนุษย์มาสร้างไข่และอสุจิเทียมนั้นมีความซับซ้อนสูง ซึ่งอาจไม่มีคุณภาพดีเพียงพอสำหรับมนุษย์ อีกทั้งประเด็นนี้ยังคงมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายและศีลธรรมตามมาเช่นกัน

ขณะที่นักวิจัยอื่น ๆ จากหลากหลายประเทศที่กำลังศึกษาเรื่องการสร้างรังไข่และอสุจิเทียมผ่านวิธีการ IVG ก็กลับมีรายงานว่าวิธีการใหม่นี้อาจช่วยคู่รักต่างเพศได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ตกอยู่ในสภาวะมีบุตรยาก หรือ โรคติดต่อทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในเซลล์สืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม่ใช่จะมีประโยชน์ต่อคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น

แต่ถึงกระนั้นความรู้ด้านพันธุกรรมศาสตร์ใหม่นี้ก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าควรมีกฎหมายหรือระเบียบในการทำวิจัยต่าง ๆ ออกมาควบคุม ก่อนที่จะเกิดการทดลองที่ไม่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม อย่างเช่น การออกแบบตัวอ่อนมนุษย์

ที่มาข้อมูล: Sky News , INSIDER
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง