เปิดเบาะแส "วัว" นำเข้าจากเมียนมา กักโรคไม่ครบ

อาชญากรรม
15 มี.ค. 66
18:13
1,213
Logo Thai PBS
เปิดเบาะแส "วัว" นำเข้าจากเมียนมา กักโรคไม่ครบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พบข้อมูลวัวนำเข้าจากเมียนมา บริเวณแนวชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก กักโรคไม่ครบตามระยะเวลา ที่กรมปศุสัตว์กำหนด หนึ่งในสาเหตุที่ถูกมองว่านำมาสู่โรคระบาดวัวในประเทศไทย

พ่อค้าวัวชาวเมียนมาคนหนึ่ง อ้างว่า มีวิธีการนำวัวเข้ามายังประเทศไทย โดยไม่ต้องกักโรคให้ครบ 30 วัน ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน เขตเฝ้าระวังโรคระบาด เขาอ้างถึงวิธีการดังกล่าวว่า จ่ายเงิน 1,500 บาท ต่อวัว 1 ตัว ให้กับเจ้าของคอกกักโรคเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อนำวัวออกจากคอกกักโรคก่อนครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน

วิธีนี้ลดค่าใช้จ่ายได้ตัวละ 1,500 - 2,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่พ่อค้าวัวเมียนมาหนึ่งคน จะนำวัวเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 50 - 100 ตัวต่อสัปดาห์

ทำไมพ่อค้าวัวถึงยอมจ่าย เพื่อไม่ต้องกักโรค ?

จากข้อมูล พบว่า หลังการระบาดของโรคลัมปีสกินในปี 2564 ประเทศไทยกำหนดให้ “โค-กระบือ” ที่นำเข้าจากเมียนมา ต้องกักโรค ฉีดวัคซีน และพ่นยา เป็นเวลา 30 วัน เพื่อควบคุมโรค ก่อนกระจายออกสู่ตลาดวัวควายในประเทศ ข้อมูลจากพ่อค้าชาวเมียนมาระบุว่า วัวหนึ่งตัวหากกักโรคตามระเบียบของกรมปศุสัตว์จะต้องจ่ายค่ากักโรค ฉีดวัคซีน และเลี้ยงดูในระยะเวลา 30 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกตัวละประมาณ 3,000 - 4,000 บาท 

เทียบเอกสารตรวจสอบ กักโรคครบหรือไม่ ?

จากคำกล่าวอ้างของผู้เลี้ยงวัวและพ่อค้าวัว ทีมข่าวเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณด่านตรวจขาออกจาก อ.แม่สอด กระทั่งพบใบ (ร.3) หรือ ใบอนุญาตให้ย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เฉพาะภายในเขตเกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด ของวัวต้องสงสัยตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสว่า อาจมีการเคลื่อนย้ายก่อนครบกำหนดกักโรค

เมื่อนำใบ (ร.3) ซึ่งระบุวันที่สามารถนำวัวออกจากคอกกักโรคได้ มาเทียบกับใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร หรือใบ (ร.7) ซึ่งระบุวันนำวัวชุดนี้เข้ามาในประเทศไทย พบว่า จากวัวทั้งหมด 93 ตัว มีวัวเพียง 20 ตัวเท่านั้น ที่เลขประจำตัวสัตว์ หรือเบอร์หู ในเอกสารทั้ง 2 ใบ ยืนยันได้ว่า กักโรคครบ 30 วัน ส่วนวัวอีก 73 ตัว ผลเทียบเคียงเอกสารพบว่า ผ่านการกักโรคเพียง 18 วัน ทั้งหมดนี้มาจากคอกกักของเอกชนรายเดียวกัน


วิธีนี้ได้รับการยืนยันจากรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ว่า ใช้นับจำนวนวันของการกักโรคได้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดตากถูกกำหนดให้เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ โรคปากเท้าเปื่อย และลัมปีสกิน จึงกำหนดให้มีระยะเวลาในการกักสัตว์ดูอาการเป็นระยะเวลา 30 วัน

ขั้นตอนนำเข้าโค-กระบือ เข้ามาในราชอาณาจักร

  • ผู้ประกอบการดำเนินการยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์ หรือ ซากสัตว์ เข้า/ออก/ผ่าน ราชอาณาจักรไทย (ร.1/1) พร้อมเอกสารประกอบคำขอ ผ่านระบบและชำระค่าคำขอ
  • สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของรายละเอียดคำขอ และเอกสารประกอบคำขอต่างๆ เพื่อออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์ หรือ ซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร พร้อมสำเนาเงื่อนไข ดำเนินการบันทึกผลการตรวจสอบ
  • กรณี “ครบถ้วนและถูกต้อง” สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า ดำเนินการออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์ หรือ ซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร พร้อมสำเนาเงื่อนไข
  • ผู้ประกอบการดำเนินการรับใบเอกสาร หลังจากนั้นนำส่งไปยังประเทศต้นทางทันที เพื่อจะได้ไปปฏิบัติให้ถูกต้องตาม Requirement พร้อมกับแจ้งยืนยันการนำเข้า 3 วันก่อนการนำเข้า
  • สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า ดำเนินการบันทึกผลยืนยันการนำเข้า ประกอบด้วย วันที่ เวลา ที่นำเข้า เที่ยวบิน เที่ยวเรือ หรือเที่ยวขบวนรถไฟ หรือทะเบียนยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร เป็นต้น
  • สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า ดำเนินการออกใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร (ร.6) พร้อมกับแจ้งให้ รับใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร
  • ผู้ประกอบการดำเนินการรับใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร (ร.6) และไปดำเนินการพิธีการทางศุลกากรต่อไป
  • ผู้ประกอบการดำเนินการขอตรวจปล่อยสัตว์-ซากสัตว์ โดยพื้นที่ของด่านกักกันสัตว์ตาก ระบุว่าโค-กระบือที่นำเข้า จะต้องดำเนินการเข้าคอกกักเอกชนตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
    1. ติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (เบอร์หู)
    2. ฉีดวัคซีน
    3. เจาะเลือดตรวจโรค
    4. กักดูอาการตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะโรค ณ ปัจจุบัน 30 วัน)
  • สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า ดำเนินการตรวจปล่อยสัตว์-ซากสัตว์
  • สัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ที่นำเข้า สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ
  • ผู้ประกอบการ ดำเนินการรับสัตว์-ซากสัตว์ สัตว์แพทย์ออกใบอนุญาตให้ย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เฉพาะภายในเขตเกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด ใบ (ร.3) ผู้ประกอบการจึงจะสามารถเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าตลาดนัดโคกระบือ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายสัตว์ไปสู่ปลายทางได้

การไม่กักโรคตามระยะเวลาที่กำหนด มีความผิดตาม พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2558 มาตรา 62 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ พบว่า จ.ตาก นำเข้าวัวจากเมียนมามากที่สุด จากทั้งหมด 5 ด่าน เฉพาะปี 2565 นำเข้า 137,499 ตัว ขณะที่ปีนี้เฉพาะเดือนมกราคมนำเข้าแล้ว 16,779 ตัว รวมมูลค่า 5 ปี ย้อนหลังมากกว่า 10,855 ล้านบาท.

ชมย้อนหลัง เปิดหลักฐาน "นำเข้าวัวเมียนมา กักโรคไม่ครบ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง