ปูพรมร้านรับซื้อของเก่าตามหา "ซีเซียม-137" ล่องหน

อาชญากรรม
15 มี.ค. 66
13:14
3,427
Logo Thai PBS
ปูพรมร้านรับซื้อของเก่าตามหา "ซีเซียม-137" ล่องหน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปส.-ฝ่ายปกครอง ปูพรมค้นหาท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เป้าหมายร้านรับซื้อของเก่า 26 ร้าน ใน อ.ศรีมหาโพธิ เบื้องต้นยังไร้ร่องรอย เตรียมตรวจสอบต่อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

ความคืบหน้าการค้นหาสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำจากโรงงานแห่งหนึ่ง ใน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่หายไปตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา 

วันนี้ (15 มี.ค.2566) เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วจากหลายหน่วยงาน 2 ชุด ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการร้านค้าของเก่า ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เพื่อตรวจสอบและค้นหาแท่งเหล็กกัมมันตรังสี ซีเชียม–137 จำนวน 26 ร้าน ในพื้นที่ ต.หัวหว้า ศรีมหาโพธิ หนองโพรง กรอกสมบูรณ์ หัวหว้า และท่าตูม การค้นหาเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์เครื่องตรวจวัดกัมมันตรังสี เดินรอบๆ กองเศษเหล็กขนาดใหญ่ แต่ก็ยังไม่พบร่องรอยหรือสัญญาณใดๆ

เบื้องต้นได้กำชับผู้ประกอบการ ให้ถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาด และค้าของเก่าปี 2474 อย่างเคร่งครัด หากพบวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ขอให้แจ้งอำเภอรับทราบทันทีเพื่อเข้าดำเนินการ

อ่านข่าวเพิ่ม ด่วน! ตามหาท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายปริศนาจากโรงไฟฟ้า

เจ้าข้องร้านของเก่ายันไม่รับซื้อวัตถุอันตราย

จากการสอบถามเจ้าของร้าน บอกว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้ามาสอบถามภายในร้านว่ามีการรับซื้ออุปกรณ์ ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีหรือไม่ ทางร้านยืนยันว่า ไม่เคยรับซื้อสารอันตรายลักษณะนี้ เพราะกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัย

นายสมทรง ล้อคำ เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า แต่ก็ไม่ได้รู้สึกกังวล เพราะทางร้านได้เพิ่มมาตรการการรับซื้อของเก่าทุกชนิด โดยผู้ที่จะมาขายต้องมีบัตรประชาชนเข้ามายื่น รวมถึงต้องยินยอมให้ถ่ายรูปเป็นหลักฐานยืนยัน เพื่อความบริสุทธิ์ใจ สินค้าที่รับซื้อต้องเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย

 เคยทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งทำให้รู้ว่าสัญลักษณ์ของสารเคมี และกัมมันตรังสี จะไม่รับซื้อและเศษส่วนใหญ่จะซื้อของที่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ขณะที่ช่วงสายวันนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ร้านรับซื้อของเก่า ที่รับซื้อเศษเหล็กโรงงานในเขตอุตสาหกรรม 304 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติมเช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปส.เตือน "ซีเซียม-137" สุดอันตราย อย่าผ่าท่อ ปูพรมร้านของเก่า

สธ.สั่งระดมทีม-รพ.รองรับผู้ป่วยรับสารซีเซียม-137

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก หากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ปลัด สธ.กล่าวว่า แต่ขณะนี้ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สธ. เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยรวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี เช่น นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เตรียมประสาน รพ.นพรัตนราชธานี รพ.รามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี ให้ สสจ.ปราจีนบุรี ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับสาร ซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง